วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศาสนาอิสลาม


 
         ศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในดินแดนทะเลทรายอาหรับ เมืองเมกกะ(ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบัน)    เป็นศาสนาที่มีความสำคัญศาสนาหนึ่งของโลกซึ่งมีผู้นับถือจากทุกชาติทุกภาษา มีศาสดาชื่อ ศาสดามุฮัมมัด มีคัมภีร์ได้แก่ คัมภีร์อัลกุรอาน  มีพิธีกรรมเช่น การละหมาด การถือศีลอด การบำเพ็ญฮัจญ์ มีศาสนสถาน เช่น  มัสญิดอัลกะอ์บะฮ์ และเรียกผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามว่า มุสลิม

คำว่า  อิสลาม  เป็นภาษาอรับ  หมายถึง การนอบน้อม มอบตนจำนนต่ออัลลอฮ์  คือการยอมมอบตนตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง ยังหมายถึงความสันติความปลอดภัย   อิสลามในฐานะเป็นชื่อของศาสนาใช้ตามคัมภีร์อุลกุรอาน

มุสลิม  คือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม คำว่ามุสลิม ยังมีความหมายรวมถึงผู้ใฝ่สันติ ผู้ยอมมอบกายและหัวใจต่อพระเจ้า  คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจึงได้ชื่อว่า ชาวไทยมุสลิม

                อัลลอฮ์  พระนามเฉพาะของพระเป็นเจ้า  หมายถึง พระนามของพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล ในศาสนาอิสลามนับถืออัลลอฮ์องค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นผู้บังเกิดโลกนี้และจักรวาลทั้งหลายมา พร้อมทั้งเป็นผู้ทรงบังเกิดสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่เรามองเห็นและสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทรงเป็นผู้สร้าง ทรงเป็นผู้ควบคุม ทรงเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้ทรงประทานสรรพสิ่งทั้งหลายมา

                อัลกุรอาน”  คัมภีร์ของศาสนาอิสลามซึ่งรวบรวมวะห์ยุ หรือพระดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ประทานแก่ศาสดามุฮัมมัด ผ่านมลาอิกะฮ์ที่มีนามญิบรีล เพื่อเป็นสิ่งชี้ทางแก่มนุษยชาติ ถ่ายทอดเป็นภาษาอาหรับ ประทานครั้งแรกในคืนอัลก็อดร์ คือคืนที่สำคัญที่สุดในเดือนเราะมาฎอน

หลักการของอิสลาม  2 ประการ คือ หลักศรัทธา 6 ประการ  และ หลักปฏิบัติ 5ประการ 

หลักศรัทธา 6 ประการ คือ

1)              ศรัทธาในพระเจ้า(อัลลอฮ์)

2)              ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ ของอัลลอฮ์ หรือเทวฑูต

3)              ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮ์

4)              ศรัทธาในบรรดาศาสดาหรือนบี (ศาสดาหรือนบี แปลว่าผู้ประกาศหรือว่าแจ้งข่าว)

5)              ศรัทธาในวันตัดสินและการเกิดใหม่ในปรโลก

6)              ศรัทธาในกฎกําหนดสภาวะ  แห่งธรรมชาติ  แห่งชีวิต

คําว่า “ ศรัทธา “ หมายถึง ความเชื่อถือ ความเลื่อมใส

สําหรับหลักปฏิบัติ มี 5 ประการ คือ

1)            การปฏิญานตนว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และท่านนบีมูฮัมมัด คือศาสนฑูตของพระองค์”

2)            การนมาซ หรือนมัสการวันละ 5 เวลา  คำว่า”นมาช”เป็นภาษาเปอร์เซีย แผลงเป็นภาษาไทยว่า “ละหมาด” เวลาที่กำหนดไว้ คือ ยํ่ารุ่งก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น บ่าย เย็น หัวคํ่า และยามดึกก่อนเที่ยงคืน   การละหมาดอาจทําที่ใดก็ได้ แต่ต้องหันหน้าไปทางเมืองเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย

3)            การถือศีลอด  (1 เดือน คือเดือนที่ 9 ของฮิจเราะห์สักราช ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม ซึ่งเรียกเดือน”เราะมะฎอน”)

4)            การบริจาคซะกาต

5)            การประกอบพิธีฮัจญ์. คือการไปเยี่ยมหรือการเดินทางไปมักกะฮ์
               ศาสนาอิสลามได้เข้ามาสู่ประเทศตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย โดยมีอิทธิพลอยู่บนแหลมมลายูก่อนแล้ว เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าชาวมุสลิมจากประเทศอาหรับและอินเดียได้เข้ามาทำการค้า และเผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ผู้ที่อยู่บนแหลมมลายู ในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณคริสตศักราช 1590 – 1605 ได้มีพ่อค้าชาวอาหรับจากประเทศเปอร์เซียชื่อ  เฉกอะหมัด  เข้ามาตั้งหลักแหล่งและค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และพ่อค้าผู้นี้ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย คือพระเจ้าทรงธรรมให้เป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัด ตำแหน่งสมุหนายกว่าราชการทางฝ่ายเหนือ ท่านผู้นี้ได้เป็นบรรพบุรุษของตระกูลไทยในปัจจุบันหลายตระกูล สำหรับชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ของไทยนั้นเป็นชนพื้นเมืองมาแต่ดั้งเดิม มิได้สืบเชื้อสายมาจากชาวมุสลิมที่เข้ามาทำการค้า หรืออพยพมาจากดินแดนอื่น เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าชนชาติดั้งเดิมเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บนแหลมมลายู ตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชเป็นเวลา 43 ปี และมีอาณาจักสำคัญ คืออาณาจักรลังกาซู ต่อมาประมาณคริสตศักราช 220 ชนชาตินี้ก็ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในคริสตศักราช 658 เกิดอาณาจักรขึ้นใหม่ คืออาณาจักรศรีวิชัย มีอิทธิพลแผ่ไปทั้วแหลมมลายู และอาณาจักรที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยด้วย จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่ 8 อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง และอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นแทนที่ คืออาณาจักรมัชปาหิต ต่อมาถึงคริสตศักราช 1401 อาณาจักนี้ก็เสื่อมสลายลง และอิทธิพลของศาสนาอิสลามก็ได้แผ่เข้าแทนที่ วัฒนธรรมอินเดียที่เคยมีอยู่ในบริเวณนี้ประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ 8 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 9 ศาสนาอิสลามได้เข้าฝังรกรากในอาณาจักรปัตตานี ซึ่งก่อตั้งโดยพระยาตนกูดันดารา และขยายตัวไปครอบคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้  ในปัจจุบันชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามมีอยู่ทั่วประเทศ

                ชาวไทยมุสลิมทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ณ แห่งใด ถือว่าเป็นคนสัญชาติไทย และมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเท่าเทียมกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ สำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รัฐบาลให้สิทธิพิเศษให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี จึงกำหนดกฎหมายให้มีผู้พิพากษาพิเศษขึ้น มีหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม นอกเหนือจากผู้พิพากษาที่มีประจำศาลอยู่แล้วเรียกว่  ดาโต๊ะยุติธรรม

               ปัจจุบันศาสนาอิสลาม  มีองค์กรทางศาสนาที่ราชการรับรอง เรียกว่า สํานักจุฬาราชมนตรี   โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นําสูงสุด   มีโครงสร้างการบริหารเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย   กรรมการกลางอิสลามประจําจังหวัด  และกรรมการกลางอิสลามประจํามัสยิด ในแต่ละมัสยิด(สุเหร่า) มีอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ประเภทละ 1 คน รวม 3 คน เป็นผู้ปกครองดูแลสัปปุรุษ

                อิสลามไม่มีนักบวชในศาสนา ชื่อที่เรียกผู้นำในระดับต่างๆ มีความหมายดังนี้

                อิหม่าม     หมายถึง ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด

                คอเต็บ       หมายถึง ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด

                บิหลั่น      หมายถึง  ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา

                คณะกรรมการกลาง   หมายถึง  คณะกรรมการกลาง ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด

                สัปปุรุษประจำมัสยิด  หมายถึง  มุสลิมที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีมติรับเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด  และมีชื่ออยู่ในทะเบียนสัปปุรุษประจำมัสยิด  และผู้นั้นจะเป็นสัปปุรุษเกินกว่าหนึ่งมัสยิดในเวลาเดียวกันไม่ได้

ที่มา

1.             รายงานสถิติด้านศาสนาของประเทศไทย ปี 2542  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี

2.             คู่มือพื้นฐานอิสลาม  อิมรอน บินยูซุฟ  อลีย์ บินอิบรอฮีม เขียน  สำนักพิมพ์อัล-อีหม่าน

3.             พจนานุกรม ศัพท์ศาสนาสากล อังกษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน )
4.        www.catholic.or.th

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น