วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีบุญพระเวส(ผะเหวด)


        บุญพระเวส หรือบุญพระเวสสันดร หรือบุญมหาชาติ (ที่จริง มหาชาติ มีอยู่ 10 ชาติ มิใช่มีเฉพาะพระเวสสันดร ในหลวง ร. 9 ทรงเอาพระมหาชนก มานำเสนอเรื่องวิริยะบารมี พระสงฆืเรา น่าจะนำไปดัดแปลงเป็นเทศน์มหาชาติบ้าง ชาวพุทธจะได้ไม่หลงงมงาย คอยแต่พึงเลขหวย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรที่มองไม่เห็น และตนเองไม่สามารถทำได้ จะได้เป็นชาวพุทธที่แท้เสียที) เป็นประเพณี สำคัญอย่างหนึ่งของฮีต-สิบสอง (คำว่า ฮีต กร่อนมาจากคำว่า "จารีต" คนอีสานนิยมพูดสั้น ๆ  ว่า ฮีต ซึ่งเสียง รีต หรือเสียง ร ในภาษาอีนสาน จะออกเสียงเป็น ฮ เช่น รู เป็น ฮู   รัก เป็น ฮัก แรง เป็น แฮง ฯลฯ) หรือ ประเพณีสิบสองเดือนของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นบุญที่เทศนา เกี่ยวประวัติ ของพระโพธิสัตว์ ที่มีนามวา่า พระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติสุดท้าย ก่อนที่ พระองค์จะประสูติมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นชาติที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นพระชาติที่ได้บำเพ็ญทานบารมี อันเป็นบารมีที่ทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวง เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น หรือสังคม

 บุญพระเวส (อีสานออกเสียงเป็น ผะเหวด) หรือบุญมหาชาติ มักกระทำกัน ในเดือนใดเดือนหนึ่ง ในระหว่างออกพรรษา จะเป็นข้าขึ้นหรือข้าแรมก็ได้ หากทำ ในเดือนหก หรือเดือนเจ็ด มักจะทำบุญบั้งไฟรวมด้วย เรียกว่า "บุญเดือนหก"

   ก่อนจัดงาน ทางบ้านและวัดจะมีการปรึกษาหารือตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ชาวบ้าน จะเตรียมจัดอาหารการกิน เช่น ขนม ข้าวต้ม และอาหารหวานคาวต่าง ๆ  สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร และเลี้ยงดูบรรดาผู้คนที่มาร่วมงาน และจัดหาปัจจัย ไทยทานสำหรับใส่กัณฑ์เทศน์ เพื่อถวายพระภิกษุสามเณร ส่วนทางวัด ก็แบ่งหนังสือ ออกเป็นกัณฑ์ ๆ  หนังสือผู้หนึ่ง อาจแบ่งเป็นหลายกัณฑ์ก็ได้ เพื่อให้ชาวบ้าน ได้รับ กัณฑ์โดยทั่วถึงกัน มอบหนังสือให้พระภิกษุ-สามเณรในวัดนั้น เพื่อเตรียมไว้เทศน์ นอกจากนั้น จะมีการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นมาเทศน์ โดยมีฎีกาไปนิมนต์ พร้อมบอกชื่อกัณฑ์ และบอกเชิญชวนชาวบ้านที่วัดนั้นตั้งอยู่มาร่วมทำบุญด้วย

ก่อนมีงานบุญพระเวสหลายวัน ชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มคนสาว จะพากัน ไปรวมที่วัด ช่วยกันจัดทำที่พัก สำหรับผู้มาร่วมงาน และช่วยกันจัดทำดอกไม้ จัดตกแต่งประดับประดาศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้ พวงมาลัยและธงทิว ขึงด้วย สายสิญจน์ ตั้งหม้อน้ำมนต์ มีขันหมาดเบ็ง (บายศรีประดับด้วยหมาก) แปดอัน โอ่งน้ำ 4 โอ่ง ตั้งไว้ที่มุมธรรมาสน์ ในโอ่งน้ำมีจอก แหน (สาหร่าย) ดอกไม่ชนิด ต่าง ๆ เช่น ดอกจิก ดอกฮัง (ดอกเต็งรัง) ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ฯลฯ และ ใบบัว ปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ  เช่น รูปนก รูปวัว รูปควาย รู้ช้าง รูปม้า ฯลฯ เอาไว้ที่ใต้ ธรรมาสน์ เอาธงใหญ่แหดธงปักรอบโรงธรรมาสน์นอกศาลาในทิศทั้งแปด เพื่อหมายว่า เป็นเขตปลอดภัย ป้องกันพญามาร ไม่ให้ล้ำเข้ามา ตามเสาธง มีที่ใส่ข้าวพันก้อน ทางด้านตะวันออกของศาลาโรงธรรม ปลูกหอพระอุปคุตขึ้นไว้ พร้อมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนหอด้วย คือ มีบาตร 1 ใบ  ร่ม 1 คัน  กระโถน 1 ใบ  กาน้ำ 1 ใบ และไตรจีวร 1 ชุด  สำหรับถวายพระอุปคุต การจัดตกแต่งดังกล่าว จัดให้เสร็จ เรียบร้อยก่อนวันงาน

     วันแรกของงานเรียกว่า "วันรวมหรือวันโฮม" ในวันนี้ นอกจากจะมีประชาชน และหมู่บ้านอื่นที่ใกล้เคียง หลั่งไหลกันมาร่วมงานแล้ว จะมีพิธีสำคัญ 2 อย่าง กล่าวคือ นิมนต์พระอุปคุต และการแห่แหนพระเวสรอบหมู่บ้าน

       การนิมนต์พระอุปคุตนั้น ตอนเช้ามืดของวันโฮม ประมาณสี่รหือห้านาฬิกา มีพิธี มนิมนต์พระอุปคุต โดยก่อนเริ่มพิธีการ มีการนำก้อนหินขนาดโตพอสมควร 3 ก้อน ไปวางไว้ในวังน้ำ หรือถ้าไม่มีวังน้ำ อาจเป็นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัด ที่จัดงานทำบุญพระเวสเท่าใดนัก พอถึงกำหนดเวลา ก็มีการแห่พานดอกไม้ธูปเทียน ขันห้าขันแปด (พานเทียนและดอกไม้อย่างละห้าคู่และแปดคู่) ไปยังสถานที่ก้อนหิน วางอยู่ ซึ่งสมมติว่า เป็นพระอุปคุต พอไปถึงที่ดังกล่าว จะมีผู้ไปหยิบก้อนหินชูขึ้น และถามว่า เป็นพระอุปคุตหรือไม่ สองก้อนแรกจะได้รับคำตอบว่า "ไม่ใช่" พอถึง ก้อนที่สามจึงจะตอบรับว่า "ใช่"  จึงมีการกล่าวคำอาราธนาพระอุปคุต แล้วอัญเชิญ ก้อนหินก้อนที่สาม ซึ่งสมมติว่า เป็นพระอุปคุต ใส่พานหรือถาด และจะมีจัดประทัด หรือยิงปืน แล้วแห่แหนพระอุปคุตพร้อมตีฆ้องตีกลอง และเป่าแคน อย่างครึกครื้น เข้ามายังวัด แล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่หอพระอุปคุต ข้างศาลาโรงธรรม ซึ่งเตรียไว้แล้ว พอแห่พระอุปคุตเข้ามาประดิษฐานไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้น จะตีฆ้อง และกลองพร้อมเครื่องดนตรี แห่แหนฟ้อนรำรอบ ๆ  วัด และตามละแวก หมู่บ้าน

        ส่วนการแห่พระเวสนั้น จะเริ่มตอนบ่ายประมาณสองหรือสามโมงในวันโฮม ชาวบ้านมารวมกันที่วัด เตรียมตัวจัดขบวนแห่ไปอัญเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรี เข้าเมือง (ซึ่งกัณหาชาลีรออยู่ก่อนแล้ว) โดยสมมติให้พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ไปอยู่ป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นป่าจริงหรือทุ่งนาหรือลานหญ้าก็ได้ พิธีอัญเชิญ พระพุทธรูป  1 องค์ และพระภิกษุ 4 รูป ขึ้นนั่งบนเสลี่ยงหามไปยัง  ณ ที่สมมติว่า พระเวสสันดรและพระนางมัทรีประทับอยู่ ซึ่งไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก เมื่อไปถึงที่ ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นแห่พระเวส ก่อนเริ่มต้นแห่ มีการอาราธนาศีล และรับศีลห้า ก่อน แล้วทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรและพระนาง มัทรี และนิมนต์พระเทศน์ กัณฑ์กษัตริย์ (จะเป็นการเทศน์แหล่เป็นคู่ 2 ธรรมาสน์) เสร็จแล้วอัญเชิญ        พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง โดยหามเสลี่ยงพระพุทธรูป และภิกษุ ออกก่อน (นำหน้า) บางแห่งมีรูปภาพเกี่ยวกับพระเวสสันดร (เวสสันดรชาดก) ซึ่ง วาดในแผ่นผ้าขาวยาวหลายสิบเมตร ก็จะแห่รูปภาพดังกล่าวไปในขบวนด้วย พอขบวนแห่งถึงวัด จึงทำการแห่รอบวัดหรือศาลาโรงธรรม โดยเวียนขวา 3 รอบ แล้วนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้  ณ ที่เดิม นิมนต์พระภิกษุลงจากเสลี่ยง ไปพักผ่อน

       ตอนค่ำประชาชน จะมาโฮม (รวม) กันอีกครั้งหนึ่ง จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวด พระพุทธมนต์จบ พระจะขึ้นสวดบนธรรมาสน์อีก 4 ครั้ง ครั้งละ 2 รูป รวม 8 รูป คือ สวดอิติปิโสโพธิสัตว์ บั้นต้น - บั้นปลาย (อ่านในใบลาน เป็นภาษาบาลี มีพันคาถา ซึ่งเรียกว่า "คาถาพัน" ผู้จัดทำสมัยบวชอยู่ ก็เคยได้รับ อาราธนาไปอ่าน) และสวดชัยมงคลตามลำดับ ต่อไปนิมนต์พระขึ้นเทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน ก่อนพระเทศน์ เอาคาถาพระอุปคุต ทั้งที่บทปักไว้ ที่ข้าง ธรรมาสน์ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อพระเทศน์จบ ประชาชน จะกลับไปพักหรือดูมหรสพ  วันรุ่งขึ้น ชาวบ้าน จึงแห่ข้าวพันก้อน ไปถวายพระอุปคุตที่่วัด แล้ววางข้าวพันก้อนไว้ตามธงหรือตามภาชนะที่จัดไว้ เมื่อใกล้สว่างและแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้ว ก็ประกาศ อัญเชิญเทวดาให้มาชุมนุมกัน และอาราธนานิมนต์ พระเทศน์สังกาส หลังจากฟังพระเทศน์สังกาสแล้ว จึงอาราธนาเทศน์มหาชาติ พระจะเทศน์มหาชาติ ตลอดวัน (บางวัดจะแหล่ดังกล่าวแล้ว) ขึ้นต้นจาก กัณฑ์ ทศพรจนถึงนครกัณฑ์ เมื่อจบแล้ว จึงมีเทศน์ฉลอง พระเวสสันดรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเทศน์จบทุกกัณฑ์ ก็พลบค่ำ เมื่อเทศน์มหาชาติจบ จัดขันดอกไม้ ธูปเทียน กล่าวคือคารยะพระรัตนตรัยจบ เป็นเสร็จพิธีบุญพระเวส

     ในระหว่างงานบุญ จะมีชายสูงอายุคนหนึ่ง นุ่งขาว ห่มขาว เป็นผู้คนคอยปรนนิบัติดูแลพระอุปคุต และบริเวณศาลาโรงธรรม โดยถือศีลแปด และจะต้องอยู่ ประจำบนศาลาโรงธรรมจนตลอดงาน ส่วนก้อนหิน ที่สมมติว่า เป็นพระอุปคุตนั้น เมื่อเสร็จงานบุญพระเวส แล้ว ก็มีการอัญเชิญไปไว้  ณ ที่เดิม

การทำบุญพระเวส มักจัดทำกันโดยทั่วไป บางหมู่บ้าน  ตำบล ก็จัดทำทุกปี จนถือเป็นประเพณี ที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ แต่บางหมู่บ้าน ตำบล ก็จัดทำใน บางปี เมื่อม่โอกาสอำนวย หรือมีความพร้อม ทั้องถิ่น ที่จัดทำบุญพระเวส จนเป็นที่กล่าวขวัญ เลื่องลือในพื้นที่ อีสานนั้น ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยคณะกรรมการ จังหวัดและอำเภอต่าง ๆ  ได้ร่วมกันจัดทำและแห่แหน มีกิจกรรมต่าง ๆ  ค่อนข้างครบถ้วน นับว่าเป็นการจัดงาน บุญพระเวสที่น่าชื่นชม และถือเป็นแบบอย่าง ได้เป็นอย่างดี
          กัณฑ์ ตามปกติการเทศน์มหาชาติทุกกัณฑ์ จะต้องมีชาวบ้านเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องกัณฑ์มาถวาย กัณฑ์หนึ่ง ๆ  อาจมีหลาย ๆ คนช่วยกันจัดร่วมกัน หรือต่างคนต่างจัดกัณฑ์มาก็ได้ กัณฑ์เทศน์ นอกจาก ปัจจัยไทยทานต่าง ๆ แล้ว ยังมีเทียนตามจำนวนคาถา ของแต่ละกัณฑ์ด้วย จำนวนเทียนคาถาของแต่ละกัณฑ์ เมื่อรวมทุกกัณฑ์แล้ว จะมีเทียนคาถาหนึ่งพันพอดี เมื่อเวลาพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ เจ้าภาพ ก็จะจุด เทียนคาถา หว่านข้าวตอกข้าวสารตามประเพณี ในระหว่างเทศน์บางทีมีการถวายกัณฑ์เพิ่มเติม เรียกว่า "กัณฑ์แถมสมภาร" คือ ถึงบทใดกัณฑ์ใด  ที่พระเทศน์ ดี มีเสียงไพเราะ มีเนื้อหากินใจ ผู้ฟังจะถวาย แถมให้ แล้วแต่ศรัทธาของผู้ฟัง ส่วนใหญ่จะถวายเป็นเงิน เมื่อเทศน์จะเอาเงินที่แถมสมภารนี้ ไปถวายรวมกับปัจจัย กัณฑ์เทศน์ด้วยเ เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่ง ๆ  มีการตีฆ้อง เป็นสัญญาณ

กัณฑ์หลอน (อีสานออกเสียงเป็น กะหลอน) คือ กัณฑ์เทศน์ที่ทำพิธีแห่ไปจากบ้าน (เรียกว่า แห่กัณฑ์หลอน หรือ แห่กะหลอน) ไม่จำเพาะกัณฑ์ใด กัณฑ์หนึ่ง และเจาะจงจะถวายพระรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อแห่ กัณฑ์หลอนไปถึงวัด พระรูปใดกำลังเทศน์อยู่ เมื่อท่าน เทศน์จบ ก็นิมนต์มารับกัณฑ์หลอนนั้น ในงานบุญพระเวส คราวหนึ่ง อาจมีกัณฑ์หลอนสักกี่กัณฑ์ก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาของประชาชนในระแวกนั้น

          นอกจากนี้ อาจมีกัณฑ์พิเศษที่เจ้าของกัณฑ์ เจาะจง จะนำไปถวายพระผู้เทศน์รูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" หมายถึง ก่อนนำกัณฑ์ไปถวาย ไปแอบบดู (จอบดู ในภาษาอีสาน แปลว่า แอบดู) ให้รู้แน่เสียก่อนว่า เป็นพระรูปที่เจาะจง จะนำกัณฑ์ไปถวาย จึงแห่กัณฑ์นั้นเข้าไปยังวัด ขณะที่พระรูปนั้นกำลังเทศน์อยู่ และเมื่อเทศน์จบ ก็นำกัณฑ์ไปถวายพอดี

          เทศน์แหล่ คือ ทำนองเทศน์เล่นเสียงยาว ๆ  คล้าย ทำนองลำยาว มีการเล่นลูกคอ และทำเสียงสูงต่ำ เพื่อให้เกิดความไพเราะ เรื่องมหาชาตินี้ ที่นิยมเทศน์ และแหล่ได้แก่ กัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มหาราช หรือ นครกัณฑ์ การเทศน์แหล่ จะนิมนต์พระที่เสียงดี เทศน์คั่นกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ฟังเกิดความไพเราะซาบซึ้ง ไม่เกิดการเบื่อหน่าย (ผู้จัดทำเกือบจะได้ฝึกหัดอยู่แล้ว แต่เพราะความไม่ชอบจึงไม่ได้ฝึก สมัยเป็นสามเณร เจ้าอาวาสท่านเทศน์แหล่เป็น ท่านจะแหล่เล่นเป็นประจำ)

ที่มา
www.allknowledges.tripod.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น