ข้าว เป็นอาหารหลักของคนไทย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ามาก
คนเอเชียประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านคนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประเทศไทย
อยู่ในเขตมรสุม มีอากาศร้อนและความชื้นสูง ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการเพาะปลูกข้าว โดยจะปลูกเป็นข้าวนาปี และข้าวนาปรัง
เราสามารถจำแนกประเภทของข้าวได้
๒ ชนิด คือ ข้าวเจ้า
และข้าวเหนียว
ซึ่งข้าวเจ้าจะมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใน
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคกลาง ส่วนข้าวเหนียวจะปลูกแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในความเชื่อของชาวนาไทย ข้าว
เป็นสิ่งที่มีบุญคุณ มีจิตวิญญาณ มีเทพธิดาชื่อว่า “แม่โพสพ” หรือ “พระแม่ศรีโพสพนพเกล้า” ประจำอยูและเป็นผู้ที่คุ้มครองดูแลต้นข้าวในแปลงนา จึงเกิดพิธีกรรม “การบูชาแม่โพสพ” และ “รับขวัญข้าว” ซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวนาไทยถือปฏิบัติคู่กับการทำนา มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ตามพุทธประวัติ ทั้งนี้เพราะ การทำพิธีบูชาแม่โพสพ นอกจากจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแล้ว ยังก่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ข้าวในนาจะมีความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากภัยธรรมชาติและสัตว์ร้ายที่จะมาทำลายข้าวกล้าในนา ตลอดจนส่งผลให้มีความอิ่มหนำสำราญ และความสุขตลอดทั้งปี “การบูชาแม่โพสพ” หรือ “รับขวัญข้าว” จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภาคของประเทศ พอจะสรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้
ในภาคเหนือ พิธีทำขวัญข้าว จะกระทำภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวในนาประมาณ ๓-๗
วัน ในเดือน ๑๑ โดยชาวล้านนามีความเชื่อว่าข้าวมีชีวิต
เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วขวัญของข้าวยังคงอยู่ที่นาเดิม
จึงต้องมีพิธีกรรมเรียกขวัญข้าวไปไว้ในยุ้งฉาง เพื่อสร้างความอุ่นใจทำให้เก็บข้าวไว้ได้นาน และกินได้ตลอดทั้งปี มีการจัดขบวนแห่ ประกอบด้วย
ขันดอกไม้ กระบุงเครื่องบูชา เครื่องสักการะ แม่โพสพ
เพื่อเดินทางไปยังหอผีที่จัดไว้
มีการฟ้อนอัญเชิญขวัญข้าว เมื่อเสร็จพิธีรับขวัญข้าวก็จะอัญเชิญขันดอกไม้บูชาสู่หลองข้าว (ยุ้งฉางที่เก็บข้าว)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสองในสามของประเทศ ชาวนาจะทำพิธีบวง สรวงเพื่อแสดงความเคารพ ระลึกถึงบุญคุณ ของแม่โพสพตลอดช่วงของการเพาะปลูก โดยมีประเพณีบุญทำขวัญพระแม่โพสพในวันขึ้น ๓
ค่ำ เดือน ๓
ของทุกปีก่อนฤดูทำนาจะเริ่มขึ้น
เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพระแม่โพสพและให้การทำนาเป็นไปอย่างราบรื่นและได้ผลผลิตดีตลอดทั้งปี
ส่วนความเชื่อเรื่อง การทำขวัญข้าว
ของคนภาคกลาง การบูชาพระแม่โพสพจะทำในช่วง
๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หลังออกพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวตั้งท้อง หรือ
ที่ชาวนาเรียกว่า แม่โพสพกำลังตั้งท้อง
จะต้องทำพิธีรับขวัญซึ่งจะใช้ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเช่น ส้มโอ
ส้มเขียวหวาน มะพร้าวอ่อน กล้วย
อ้อย มะม่วง ถั่วและงา
การที่ไม่ใช้ อาหารคาว-หวาน ข้าว
ขนม หรือ หมู เห็ด เป็ด ไก่ ก็เพราะพระแม่โพสพย่อมไม่กินตัวเอง แต่จะอุทิศตัวเองเพื่อให้คนอื่นกิน ที่สำคัญ
การรับขวัญข้าวตั้งท้อง
จะใช้ผู้หญิงไปรับขวัญข้าวเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้เช่น
กระจก หวี แปรง
น้ำหอม ธูป เทียน
ไม้ขีด ธงคาถาพัน มีนัยว่า
เพื่อป้องกันศัตรูที่จะมาทำลายพืชผล
แล้วเอาของทั้งหมดใส่ชะลอมหรือเฉลวที่ทำจากไม้ไผ่ ผูกด้วยด้ายสีแดงและขาว ไปรับขวัญข้าวที่มุมนาและทำพิธีสวดรับขวัญข้าว
สำหรับภาคใต้นั้น พิธีกรรมนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า ข้าวมีเทพเจ้า
จะต้องมีการทำขวัญข้าวให้ถูกต้องเพื่อข้าวในนาจะได้ปริมาณมาก ๆ
ในสมัยก่อนการทำพิธี หมอทำขวัญจะต้องเตรียมเครื่องยา ๓๐
ชนิด แต่ปัจจุบันใช้เพียง ๓ ชนิด คือ
ชุมเห็ด พรมคด ไม้กำ พร้อมด้วยบายศรีและของคาวหวานจัดใส่สำรับ เอาเสื่อปูบนกองข้าว แล้วจึงวางสำรับลงบนเสื่อจากนั้นหมอทำขวัญก็จะเริ่มทำพิธีรับขวัญข้าว
จะเห็นได้ว่า ข้าว
มีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน
ชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ กว่าร้อยละ ๘๐
มีอายุเกินกว่า ๕๐ ปี
และลูกหลานไม่นิยมสืบทอดอาชีพทำนา ประกอบกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำและหนี้สิน
คาดว่าในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า
ประชากรอาจ ๘๐ ล้านคน
หากระดับชีวิตของเกษตรกรไทยยังไม่ดีขึ้น
ข้าวอาจไม่เพียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากคนไทยหันไปประกอบอาชีพอื่นที่มีความมั่นคงกว่าการทำนา จนอาจเป็นเพียงตำนานเล่าขานของ ข้าว ที่บอกเล่าทั้งประเพณี วัฒนธรรมของรากเหง้าแห่งภูมิปัญญา ตลอดจน วิถีชีวิต และจิตวิญญาณของคนไทยและชาติไทย
ที่มา
๑.
ฐานข้อมูล ประเพณีและวัฒนธรรม สำนักวิทยบริการ รวบรวมโดย
นายสุภาพ แคโอชา
๒.
น.ส.พ.มติชน วันที่ ๖
กันยายน ๒๕๔๗ หน้า
๑๘ (ภาพประกอบ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น