วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อาณาจักรฟูนันหรือพนม



ฟูนันเป็นรัฐที่รุ่งเรืองอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนันรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในดินแดนที่ประชาชนดำรงชีวิตด้วยการเกษตร  โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนันยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายกับต่างประเทศ   จึงมีรายได้จากการค้าและการเดินเรือเรื่องราวของอาณาจักรฟูนัน จากบันทึกของจีนปรากฎว่า ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ของชุมชนที่เป็นระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบบกษัตริย์ มีเมืองต่างๆมาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีการติดต่อต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและโลกตะวันตก ชาวพื้นเมืองมีชนชั้นสูงเป็นพวกมาลาโยโพนีเซียน ชนชั้นล่างเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซีย ฟูนันมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คนเป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้านจากนั้นพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็นรัฐ  สาเหตุที่ฟูนันพัฒนาจากสังคมเผ่ามาเป็นสังคมรัฐ  สังคมดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเผ่า(Tribal Society)ต่อมาพัฒนาเป็นสังคมรัฐ(Social State) เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา  สำหรับฟูนัน เดิมเป็นหมู่บ้าน ต่อมาขยายออกไป เพราะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงต้องขยายที่เพาะปลูกให้พอกินพอใช้กับจำนวนชุมชนที่ขยายขึ้น ได้พยายามหาเทคนิค วิทยาการต่างๆมาช่วย เช่น ขุดคลองกั้นน้ำ เพื่อให้อยู่ดี มีอาหารพอเพียง  ต่อมาเริ่มมีโครงร่างสังคมดีขึ้นจึงพัฒนาเป็นรัฐ เหตุที่ฟูนันพัฒนาเป็นรัฐได้นั้น เพราะฟูนันมีการพัฒนาเรื่องการเพาะปลูก และเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเมืองออกแก้ว(Oc-EO) เป็นเมืองท่าของฟูนันที่เรือต่างๆผ่านมาต้องแวะ และการชลประทานในฟูนันก็เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกทำให้ฟูนันขยายตัวเป็นรัฐแรกในภูมิภาคนี้  ความเจริญและความเสื่อมของฟูนัน ตามหลักฐานของจีน ระบุว่า ฟูนันตั้งขึ้นโดยพราหมณ์โกณธิญญะ(Kaundinya)ผู้มีอิทธิพลเหนือชนพื้นเมือง และได้แต่งงานกับเจ้าหญิงนาคี(Nagi) ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ฟูนันอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ มีเมืองหลวงชื่อ วยาธปุระ(Vyadhapura)แปลว่าเมืองของกษัตริย์นายพราน(The city of the hunter king)  ซึ่งคำว่าฟูนันเป็นคำที่เทียบเคียงกับภาษาเขมร คือ พนม หรือ บนม ที่แปลว่า ภูเขา ผู้ปกครองของฟูนัน เรียกว่า กูรุง บนม(Kurung Bnam) คือ เจ้าแห่งพนม (King of the Mountain) วยาธปุระ อยู่ใกล้เขาบาพนมและมีเมืองท่าที่สำคัญคือออกแก้ว  มีแม่น้ำยาว 200 กิโลเมตรต่อเชื่อมเมืองท่าออกแก้วกับเมืองวยาธปุระ  เนื่องจากเมืองหลวงอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง บริเวณที่แม่น้ำ ทะเลสาบไหลมาบรรจบกัน จึงช่วยเรื่องการระบายน้ำจากทะเลสาบไปที่ราบทางฝั่งตะวันตกซึ่งช่วยในเรื่องการเพาะปลูกได้ดี  สถานที่ตั้งทางด้านยุทธศาสตร์ของฟูนัน ทำให้สามารถควบคุมเส้นทางช่องแคบเชื่อมฝั่งทะเลของอ่าวไทยเข้ากับทะเลอันดามันและเมืองท่าต่างๆของจีนตอนใต้ ทำให้มีความมั่งคั่งและอิทธิพลทางด้านการเมือง  ฟูนันมีอำนาจการปกครองเหนือลังกาสุกะ(Langkasuka มีเมืองหลวงอยู่ในบริเวณปัตตานีปัจจุบัน) และเมืองตามพรลิงค์(Tambralings มีเมืองหลวงอยู่ที่นครศรีธรรมราชหรือเมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) เมืองทั้งสองตั้งอยู่สองฝั่งเส้นทางเดินเรือค้าขายที่สำคัญ ฟูนันยังมีอำนาจเหนือเจนละ ซึ่งอยู่ตอนเหนือของฟูนัน ฟูนันมีอำนาจถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่5การขนส่งภายในฟูนันเป็นการคมนาคมทางน้ำ ประชากรอาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำ ปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูง กีฬาที่ชอบคือ การชนไก่ ชนหมู ภาษีอากรจ่ายเป็นทอง เงิน ไข่มุก น้ำหอม ฟูนันมีการติดต่อการค้ากับตะวันตก เนื่องจากปรากฏเหรียญเงินรูปจักรพรรดิโรมัน แหวนจารึกภาษาอินเดีย สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 2   ลักษณะของวัฒนธรรมที่เมืองออกแก้ว  เป็นแบบวัฒนธรรมผสมกันระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองกับวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ประเพณีการบูชาภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ และเจ้าหญิงธิดาพญานาคของชาวฟูนัน  ได้สืบทอดมาเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์กัมพูชาทรงปฏิบัติ  ส่วนลักษณะทางสถาปัตยกรรมชาวฟูนั้นได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากอินเดียสมัยราชวงศ์ปาลวะและราชวงศ์คุปตะ ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู ใช้ภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นอิทธิพลจากอินเดีย ฟูนันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน  ดังนั้น เรื่องราวของอาณาจักรฟูนันจึงปรากฏในเอกสารจีนเป็นจำนวนมาก ที่กล่าวไว้คือ เมืองต่างๆของฟูนันมีกำแพงล้อมรอบ มีปราสาทราชวัง และบ้านเรือนราษฎร  ชาวฟูนันมีผิวดำ ผมหยิก เดินเท้าเปล่า ทำการเพาะปลูก ชอบการแกะสลักเครื่องประดับ การสลักหิน มีตัวอักษรใช้ มีทาสเชลยศึก มีการค้าทองคำ การค้าเงิน ค้าไหม การพิจารณาคดีความใช้แบบจารีตนครบาล มีแหล่งน้ำใช้ร่วมกัน มีการทดน้ำ
เพื่อการเพาะปลูก                                                                     
           สรุปได้ว่า เรื่องราวของฟูนันส่วนมากเป็นความรู้ที่ได้มาจากบันทึกของชาวจีนที่ชื่อ คังไถ่ ที่เดินทางมายังอาณาจักรฟูนันในคริสต์ศตวรรษที่ 3  การล่มสลายของฟูนันปรากฎในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถังในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ว่าฟูนันเสื่อมเนื่องจากแพ้พวกเจนละ กษัตริย์ฟูนันต้องหนีไปทางทิศใต้ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐเจนละได้เข้าครอบครองฟูนัน กษัตริย์เจนละทุกพระองค์ได้รับเอาเรื่องราวของฟูนันเป็นของตน และสมัยต่อมา คือ สมัยนครวัด กษัตริย์ทุกพระองค์ที่นครวัดถือว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ วยาธปุระทั้งสิ้น  จึงกล่าวได้ว่าอาณาจักรฟูนันเป็นผู้วางรากฐานอารยธรรมอินเดียในอินโดจีน และเป็นรัฐที่เป็นรากฐานของประเทศกัมพูชา
ที่มา
http://www.siamrecorder.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น