วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“บ้านขุนอำไพพาณิชย์” อาคารเก่าศรีสะเกษ

 
 
ในตัวเมืองศรีสะเกษมีอาคารเก่าแก่หลังหนึ่งซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นโบราณสถานของชาติ นั่นก็คือ “บ้านขุนอำไพพาณิชย์” อาคารเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2468 โดยช่างชาวเวียดนามและจีน อาคารหลังนี้เดิมเป็นบ้านของขุนอำไพพาณิชย์ (ทองอินทร์ นาคสีหราช) และนางอำไพพาณิชย์ (ทองอินทร์ นาคสีหราช) ตั้งอยู่บริเวณตลาดใน (ตลาดเก่า) ในจังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ตึกขุนอำไพ”

ขุนอำไพพาณิชย์เป็นชาวไทยโคราชเชื้อสายจีน บรรพบุรุษอพยพจากประเทศจีนเดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่หลังประตูชุมพล เมืองโคราช ในราวสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ประกอบธุรกิจการค้าเชื่อมโยงระหว่างโคราชกับหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน
 
ขุนอำไพพาณิชย์เองก็ได้ประกอบอาชีพค้าขาย และยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้จับจองที่ดินในศรีสะเกษไว้มากมาย และที่ดินเหล่านั้นได้กลายเป็นทำเลทองเนื่องจากเป็นย่านใจกลางเมืองรายรอบที่ตั้งสถานีรถไฟเมืองศรีสะเกษ และนอกจากการดำเนินธุรกิจการค้าแล้ว ขุนอำไพพาณิชย์ยังทำหน้าที่เป็นนายภาษีอากร เก็บภาษีอากรส่งให้สมุหเทศาภิบาล อันเป็นคุณงามความดีที่ได้รับใช้แผ่นดิน

สำหรับบ้านขุนอำไพนั้นถือเป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีครีม มีลายปูนปั้นและไม้ฉลุประดับตามช่องลมดูสวยงาม ก่อสร้างเป็นอาคารแบบตึกแถวจำนวน 2 ชั้น 6 คูหา โดยปูพื้นชั้นบนด้วยไม้เนื้อแข็ง มีบันไดขึ้นลง 2 ทาง เหนือประตูหน้าต่างและเสามีลายปูนปั้นประดับอย่างสวยงาม ส่วนหลังคามุงด้วยสังกะสี ที่ยอดของปั้นลมและลายทั้งสองข้างมีลวดลายของพันธุ์พฤกษาประดับ

 ลักษณะเด่นของอาคารหลังนี้อยู่ตรงที่มีลายปูนปั้นและไม้ฉลุทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง ลวดลายส่วนใหญ่ได้รับอิทธิลจากศิลปะและความเชื่อตามคติจีนโบราณ ลวดลายปูนปั้นเหล่านี้มีความหมายอันเป็นมงคล เช่น ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งหมายถึง ชาติวาสนา ทรัพย์สมบัติ และความยั่งยืน โดยใช้สัญลักษณ์แทนดังนี้ พระอาทิตย์ฉายรัศมี หรือดอกพุดตาน หมายถึง ฮก ดอกเบญจมาศ หมายถึง ลก นกกระเรียน หมายถึง ซิ่ว ค้างคาวคาบเงินเหรียญโบราณ 2 เหรียญ หมายถึง ความพรั่งพร้อมด้วยโชคลาภ นอกจากนี้ยังมีลวดลายเครื่องประดับอื่นๆ อีกเช่น ลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกบัว และลายก้านขด

หลังจากขุนอำไพพาณิชย์ถึงแก่กรรมแล้ว อาคารหลังนี้ได้เปิดให้เช่าเป็นที่พักอาศัยและประกอบการค้าเป็นเวลานานร่วม 40 ปี จนในปี 2523 อาคารมีสภาพชำรุดมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัยได้ เทศบาลนครศรีสะเกษจึงประกาศเป็นเขตหวงห้ามตั้งแต่บัดนั้น จนกระทั่งกรมศิลปากร โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ได้เข้ามาดำเนินการบูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี 2537
 
 
 
 
 
 
 
 

 
 
 
 
 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น