วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การเมืองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน


                ประชาชนไทยมีเสรีภาพทางการเมืองพอสมควร  สามารถที่จะแสดงออกทางการเมืองได้  ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมือง  แม้จะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองมารองรับ  เช่น ในกาเลือกตั้งหลายครั้งแม้ไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง  แต่ในพฤติกรรมความเป็นจริงนั้น  ก็มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นพลายพรรค  โดยอาศัยเสรีภาพที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทการรวมกลุ่มเป็นสมาคมสหภาพ ก็สามารถทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  การเคลื่อนไหวทางการเมือง  เช่น การเดินขบวน หรือการชุมนุมกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล  ก็มีปรากฏและไม่ได้รับการขัดขวางในการแสดงออก  ตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดกฎหมาย  เสรีภาพในการพูด การพิมพ์และโฆษณา  ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวาง  จนน่าจะเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยนั้น ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน  ตามหลักประชาธิปไตย  ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศให้กฎอัยการศึก  และมีประกาศหรือคำสั่งและกฎหมายบางฉบับจำกัดเสรีภาพในทางการเมืองบ้าง   แต่ในทางปฏิบัติก็มีการผ่อนผันและไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้จนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกทางการเมือง

              ถ้าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ใช้มาก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาทางการเมืองของไทยต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยมีระบบพรรคการเมือง  ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมาก เป็นต้นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังกำหนดว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วจะพ้นจากการเป็น ส.ส.ทันทีที่ลาออกหรือถูกขับไล่ออกจากพรรค  จึงทำให้พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการในสภา  นอกจากนี้  พะราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ยังพยายามวางแนวทางให้พรรคการเมืองมีลักษณะเป็นพรรคที่มีฐานสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวาง  กล่าวคือต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องอยู่ในทุกภาค  ภาคละไม่น้อยกว่า 5 จังหวัด จังหวัดหนึ่งต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน

             การเมืองระดับท้องถิ่น  อันได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นระดับ และรูปแบบที่สำคัญนั้นก็ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง  สมาชิกสภาเทศบาล  และสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อต้นปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา  หลังจากที่ได้งดเว้นมานาน  ปัจจุบันนี้ก็ได้ให้มีการดำเนินการ  การปกครองระดับท้องถิ่นในแบบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองระดับท้องถิ่น  อย่างไรก็ตามการเมืองระดับท้องถิ่นนี้ก็ยังไม่สู้ได้รับการสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางนัก  จะเห็นได้จากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก  รูปแบบลักษณะของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็ยังค่อนข้างเป็นไปแบบเดิม คือ ไม่สู้อิสระในการดำเนินการมากนัก  ทางการยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมและดำเนินการอยู่และยังได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

                 อย่างไรก็ตามการที่จะเห็นรูปการเมืองการปกครองไทยพัฒนาไปสู่รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ  หากประชาชนมีความตื่นตัวและมีความสำนึกทางการเมืองสามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองได้ถูกต้อง  สนใจที่จะใช้สิทธิทางการเมืองลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  และเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีเข้าสู่สภา  บทบาท และพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมือง  และกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้  ทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายขึ้นและเมื่อใดประชาชนส่วนใหญ่  มีความรู้ความเข้าใจและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้ว  ก็เป็นที่แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีเสถียรภาพมั่นคงอยู่คู่กับการปกครองไทยตลอดไป

                  ปัจจุบันนี้จากการพิจารณาบรรยากาศการเมืองไทย  อาจกล่าวได้ว่า  มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก  ประชาชนมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกทางการเมืองมากขึ้น  จะเห็นได้จากสถิติผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระยะหลังมีจำนวนเกินครึ่งทุกครั้ง  (การเลือกตั้งเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2526 มีผู้ไปลงคะแนนจำนวนร้อยละ 50.76 การเลือกตั้งเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ร้อยละ 61.43 การเลือกตั้งเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ร้อยละ 63.56  และการเลือกตั้งเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ร้อยละ 61.59) มีการเผยแพร่ข่าวสารการเมืองอย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชนทุกประเภททั้งหนังสือพิมพ์  วิทยุ และโทรทัศน์ทำให้ประชาชนสนใจและเข้าใจการเมืองมากขึ้น  แม้ว่าจะยังมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่บ้าง  เช่น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินที่เข้ามามีบทบาทสูงในการเลือกตั้ง  หรือการที่นักการเมืองบางคน  มีบทบาทเป็นนักธุรกิจการเมืองแต่ในการเมืองระบบเปิด  และในยุคที่ข่าวสารที่แพร่หลายได้กว้างขวางเช่นทุกวันนี้  ก็คงพอที่จะให้ความเชื่อมั่นได้ว่า  ประชาชนจะมีส่วนช่วยควบคุมให้การเมืองพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับประชาชนโดยส่วนรวมมากขึ้น  เพราะการกระทำที่ไม้ชอบมาพากลของนักการเมืองจะถูกเปิดเผยให้ทราบต่อสาธารณะทำให้ผู้ที่เป็นนักการเมืองต้องระมัดระวัง พฤติกรรมของตนตามสมควร

               อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่าในระบอบประชาธิปไตย  นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองในระดับชาติ  หรือกลุ่มการเมืองในระดับท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อเข้าสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ แล้วยังต้องการให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนในลักษณะกลุ่มผลประโยชน์  เช่น กลุ่มอาชีพ  กลุ่มอุดมการณ์  กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่ไม่ต้องการเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง  แต่ทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาหรือประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้น  แสงดความต้องการให้ผู้ปกครองรับทราบ ทำให้ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องของกลุ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ซึ่งปัจจุบันนี้ในการเมืองไทยก็มีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งที่จัดตั้งเป็นทางการ  เช่น สหภาพ  สมาคม หรือจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ  เช่น  กลุ่ม  ชมรมต่างๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ  หรือเฉพาะกาลเป็นครั้งคราว เข้ามามีบทบาทในทางการเาองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายตามที่กลุ่มชนต้องการ   เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นักศึกษา  กรรมกร  ชาวไร่  ชาวนา  ก็มีการชุมนุมหรือเดินขบวนเพื่อให้ทางการได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหรือกับส่วนรวมอยู่เสมอ  เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ ทำให้รัฐบาลต้องตื่นตัวอยู่เสมอในอันที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชน  การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาเช่นนี้  ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย  ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย  เพราะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการพยายามสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

                      ยังมีสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่จะขาดเสียมิได้  คือ ประชาชนทุกคนต้องมี ขันติธรรม  กล่าวคือ สมาชิกในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้มีความอดกลั้น  อดทนอย่างยิ่ง  ต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับความเห็นของตนได้  ต้องรอฟังความเห็นส่วนใหญ่จากบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการ  หรือแก้ไขปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งต้องทนต่อสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้  กระบวนการของประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องอาศัยเวลา  ต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง  สมาชิกของสังคมนี้จึงต้องได้รับการปลูกฝังคุณสมบัติดังกล่าวตั้งแต่เยาว์วัยและพัฒนาขึ้นตามลำดับ  ดังนั้น  การปฏิวัติ (การหมุนกลับ  การเปลี่ยนแปลงระบบ)  หรือการรัฐประหาร (มีการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน) จึงเป็นวิธีการซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการปกครองระบอบนี้อย่างแน่นอน  เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจะต้องมีการล้มเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ  คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ทุกครั้งไป  เป็นเหตุให้ผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและของประชาชนต้องชะงักงันไป

ที่มา
www.mwit.ac.th
 

 

 

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีบุญพระเวส(ผะเหวด)


        บุญพระเวส หรือบุญพระเวสสันดร หรือบุญมหาชาติ (ที่จริง มหาชาติ มีอยู่ 10 ชาติ มิใช่มีเฉพาะพระเวสสันดร ในหลวง ร. 9 ทรงเอาพระมหาชนก มานำเสนอเรื่องวิริยะบารมี พระสงฆืเรา น่าจะนำไปดัดแปลงเป็นเทศน์มหาชาติบ้าง ชาวพุทธจะได้ไม่หลงงมงาย คอยแต่พึงเลขหวย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรที่มองไม่เห็น และตนเองไม่สามารถทำได้ จะได้เป็นชาวพุทธที่แท้เสียที) เป็นประเพณี สำคัญอย่างหนึ่งของฮีต-สิบสอง (คำว่า ฮีต กร่อนมาจากคำว่า "จารีต" คนอีสานนิยมพูดสั้น ๆ  ว่า ฮีต ซึ่งเสียง รีต หรือเสียง ร ในภาษาอีนสาน จะออกเสียงเป็น ฮ เช่น รู เป็น ฮู   รัก เป็น ฮัก แรง เป็น แฮง ฯลฯ) หรือ ประเพณีสิบสองเดือนของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นบุญที่เทศนา เกี่ยวประวัติ ของพระโพธิสัตว์ ที่มีนามวา่า พระเวสสันดร ซึ่งเป็นชาติสุดท้าย ก่อนที่ พระองค์จะประสูติมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงนับว่าเป็นชาติที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นพระชาติที่ได้บำเพ็ญทานบารมี อันเป็นบารมีที่ทรงเสียสละอย่างใหญ่หลวง เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น หรือสังคม

 บุญพระเวส (อีสานออกเสียงเป็น ผะเหวด) หรือบุญมหาชาติ มักกระทำกัน ในเดือนใดเดือนหนึ่ง ในระหว่างออกพรรษา จะเป็นข้าขึ้นหรือข้าแรมก็ได้ หากทำ ในเดือนหก หรือเดือนเจ็ด มักจะทำบุญบั้งไฟรวมด้วย เรียกว่า "บุญเดือนหก"

   ก่อนจัดงาน ทางบ้านและวัดจะมีการปรึกษาหารือตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ชาวบ้าน จะเตรียมจัดอาหารการกิน เช่น ขนม ข้าวต้ม และอาหารหวานคาวต่าง ๆ  สำหรับถวายพระภิกษุสามเณร และเลี้ยงดูบรรดาผู้คนที่มาร่วมงาน และจัดหาปัจจัย ไทยทานสำหรับใส่กัณฑ์เทศน์ เพื่อถวายพระภิกษุสามเณร ส่วนทางวัด ก็แบ่งหนังสือ ออกเป็นกัณฑ์ ๆ  หนังสือผู้หนึ่ง อาจแบ่งเป็นหลายกัณฑ์ก็ได้ เพื่อให้ชาวบ้าน ได้รับ กัณฑ์โดยทั่วถึงกัน มอบหนังสือให้พระภิกษุ-สามเณรในวัดนั้น เพื่อเตรียมไว้เทศน์ นอกจากนั้น จะมีการนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นมาเทศน์ โดยมีฎีกาไปนิมนต์ พร้อมบอกชื่อกัณฑ์ และบอกเชิญชวนชาวบ้านที่วัดนั้นตั้งอยู่มาร่วมทำบุญด้วย

ก่อนมีงานบุญพระเวสหลายวัน ชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มคนสาว จะพากัน ไปรวมที่วัด ช่วยกันจัดทำที่พัก สำหรับผู้มาร่วมงาน และช่วยกันจัดทำดอกไม้ จัดตกแต่งประดับประดาศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้ พวงมาลัยและธงทิว ขึงด้วย สายสิญจน์ ตั้งหม้อน้ำมนต์ มีขันหมาดเบ็ง (บายศรีประดับด้วยหมาก) แปดอัน โอ่งน้ำ 4 โอ่ง ตั้งไว้ที่มุมธรรมาสน์ ในโอ่งน้ำมีจอก แหน (สาหร่าย) ดอกไม่ชนิด ต่าง ๆ เช่น ดอกจิก ดอกฮัง (ดอกเต็งรัง) ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ฯลฯ และ ใบบัว ปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ  เช่น รูปนก รูปวัว รูปควาย รู้ช้าง รูปม้า ฯลฯ เอาไว้ที่ใต้ ธรรมาสน์ เอาธงใหญ่แหดธงปักรอบโรงธรรมาสน์นอกศาลาในทิศทั้งแปด เพื่อหมายว่า เป็นเขตปลอดภัย ป้องกันพญามาร ไม่ให้ล้ำเข้ามา ตามเสาธง มีที่ใส่ข้าวพันก้อน ทางด้านตะวันออกของศาลาโรงธรรม ปลูกหอพระอุปคุตขึ้นไว้ พร้อมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนหอด้วย คือ มีบาตร 1 ใบ  ร่ม 1 คัน  กระโถน 1 ใบ  กาน้ำ 1 ใบ และไตรจีวร 1 ชุด  สำหรับถวายพระอุปคุต การจัดตกแต่งดังกล่าว จัดให้เสร็จ เรียบร้อยก่อนวันงาน

     วันแรกของงานเรียกว่า "วันรวมหรือวันโฮม" ในวันนี้ นอกจากจะมีประชาชน และหมู่บ้านอื่นที่ใกล้เคียง หลั่งไหลกันมาร่วมงานแล้ว จะมีพิธีสำคัญ 2 อย่าง กล่าวคือ นิมนต์พระอุปคุต และการแห่แหนพระเวสรอบหมู่บ้าน

       การนิมนต์พระอุปคุตนั้น ตอนเช้ามืดของวันโฮม ประมาณสี่รหือห้านาฬิกา มีพิธี มนิมนต์พระอุปคุต โดยก่อนเริ่มพิธีการ มีการนำก้อนหินขนาดโตพอสมควร 3 ก้อน ไปวางไว้ในวังน้ำ หรือถ้าไม่มีวังน้ำ อาจเป็นที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัด ที่จัดงานทำบุญพระเวสเท่าใดนัก พอถึงกำหนดเวลา ก็มีการแห่พานดอกไม้ธูปเทียน ขันห้าขันแปด (พานเทียนและดอกไม้อย่างละห้าคู่และแปดคู่) ไปยังสถานที่ก้อนหิน วางอยู่ ซึ่งสมมติว่า เป็นพระอุปคุต พอไปถึงที่ดังกล่าว จะมีผู้ไปหยิบก้อนหินชูขึ้น และถามว่า เป็นพระอุปคุตหรือไม่ สองก้อนแรกจะได้รับคำตอบว่า "ไม่ใช่" พอถึง ก้อนที่สามจึงจะตอบรับว่า "ใช่"  จึงมีการกล่าวคำอาราธนาพระอุปคุต แล้วอัญเชิญ ก้อนหินก้อนที่สาม ซึ่งสมมติว่า เป็นพระอุปคุต ใส่พานหรือถาด และจะมีจัดประทัด หรือยิงปืน แล้วแห่แหนพระอุปคุตพร้อมตีฆ้องตีกลอง และเป่าแคน อย่างครึกครื้น เข้ามายังวัด แล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่หอพระอุปคุต ข้างศาลาโรงธรรม ซึ่งเตรียไว้แล้ว พอแห่พระอุปคุตเข้ามาประดิษฐานไว้เรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้น จะตีฆ้อง และกลองพร้อมเครื่องดนตรี แห่แหนฟ้อนรำรอบ ๆ  วัด และตามละแวก หมู่บ้าน

        ส่วนการแห่พระเวสนั้น จะเริ่มตอนบ่ายประมาณสองหรือสามโมงในวันโฮม ชาวบ้านมารวมกันที่วัด เตรียมตัวจัดขบวนแห่ไปอัญเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรี เข้าเมือง (ซึ่งกัณหาชาลีรออยู่ก่อนแล้ว) โดยสมมติให้พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ไปอยู่ป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นป่าจริงหรือทุ่งนาหรือลานหญ้าก็ได้ พิธีอัญเชิญ พระพุทธรูป  1 องค์ และพระภิกษุ 4 รูป ขึ้นนั่งบนเสลี่ยงหามไปยัง  ณ ที่สมมติว่า พระเวสสันดรและพระนางมัทรีประทับอยู่ ซึ่งไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก เมื่อไปถึงที่ ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นแห่พระเวส ก่อนเริ่มต้นแห่ มีการอาราธนาศีล และรับศีลห้า ก่อน แล้วทำพิธีบายศรีสู่ขวัญพระเวสสันดรและพระนาง มัทรี และนิมนต์พระเทศน์ กัณฑ์กษัตริย์ (จะเป็นการเทศน์แหล่เป็นคู่ 2 ธรรมาสน์) เสร็จแล้วอัญเชิญ        พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง โดยหามเสลี่ยงพระพุทธรูป และภิกษุ ออกก่อน (นำหน้า) บางแห่งมีรูปภาพเกี่ยวกับพระเวสสันดร (เวสสันดรชาดก) ซึ่ง วาดในแผ่นผ้าขาวยาวหลายสิบเมตร ก็จะแห่รูปภาพดังกล่าวไปในขบวนด้วย พอขบวนแห่งถึงวัด จึงทำการแห่รอบวัดหรือศาลาโรงธรรม โดยเวียนขวา 3 รอบ แล้วนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้  ณ ที่เดิม นิมนต์พระภิกษุลงจากเสลี่ยง ไปพักผ่อน

       ตอนค่ำประชาชน จะมาโฮม (รวม) กันอีกครั้งหนึ่ง จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เมื่อพระสวด พระพุทธมนต์จบ พระจะขึ้นสวดบนธรรมาสน์อีก 4 ครั้ง ครั้งละ 2 รูป รวม 8 รูป คือ สวดอิติปิโสโพธิสัตว์ บั้นต้น - บั้นปลาย (อ่านในใบลาน เป็นภาษาบาลี มีพันคาถา ซึ่งเรียกว่า "คาถาพัน" ผู้จัดทำสมัยบวชอยู่ ก็เคยได้รับ อาราธนาไปอ่าน) และสวดชัยมงคลตามลำดับ ต่อไปนิมนต์พระขึ้นเทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน ก่อนพระเทศน์ เอาคาถาพระอุปคุต ทั้งที่บทปักไว้ ที่ข้าง ธรรมาสน์ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อพระเทศน์จบ ประชาชน จะกลับไปพักหรือดูมหรสพ  วันรุ่งขึ้น ชาวบ้าน จึงแห่ข้าวพันก้อน ไปถวายพระอุปคุตที่่วัด แล้ววางข้าวพันก้อนไว้ตามธงหรือตามภาชนะที่จัดไว้ เมื่อใกล้สว่างและแห่ข้าวพันก้อนเสร็จแล้ว ก็ประกาศ อัญเชิญเทวดาให้มาชุมนุมกัน และอาราธนานิมนต์ พระเทศน์สังกาส หลังจากฟังพระเทศน์สังกาสแล้ว จึงอาราธนาเทศน์มหาชาติ พระจะเทศน์มหาชาติ ตลอดวัน (บางวัดจะแหล่ดังกล่าวแล้ว) ขึ้นต้นจาก กัณฑ์ ทศพรจนถึงนครกัณฑ์ เมื่อจบแล้ว จึงมีเทศน์ฉลอง พระเวสสันดรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกว่าจะเทศน์จบทุกกัณฑ์ ก็พลบค่ำ เมื่อเทศน์มหาชาติจบ จัดขันดอกไม้ ธูปเทียน กล่าวคือคารยะพระรัตนตรัยจบ เป็นเสร็จพิธีบุญพระเวส

     ในระหว่างงานบุญ จะมีชายสูงอายุคนหนึ่ง นุ่งขาว ห่มขาว เป็นผู้คนคอยปรนนิบัติดูแลพระอุปคุต และบริเวณศาลาโรงธรรม โดยถือศีลแปด และจะต้องอยู่ ประจำบนศาลาโรงธรรมจนตลอดงาน ส่วนก้อนหิน ที่สมมติว่า เป็นพระอุปคุตนั้น เมื่อเสร็จงานบุญพระเวส แล้ว ก็มีการอัญเชิญไปไว้  ณ ที่เดิม

การทำบุญพระเวส มักจัดทำกันโดยทั่วไป บางหมู่บ้าน  ตำบล ก็จัดทำทุกปี จนถือเป็นประเพณี ที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ แต่บางหมู่บ้าน ตำบล ก็จัดทำใน บางปี เมื่อม่โอกาสอำนวย หรือมีความพร้อม ทั้องถิ่น ที่จัดทำบุญพระเวส จนเป็นที่กล่าวขวัญ เลื่องลือในพื้นที่ อีสานนั้น ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยคณะกรรมการ จังหวัดและอำเภอต่าง ๆ  ได้ร่วมกันจัดทำและแห่แหน มีกิจกรรมต่าง ๆ  ค่อนข้างครบถ้วน นับว่าเป็นการจัดงาน บุญพระเวสที่น่าชื่นชม และถือเป็นแบบอย่าง ได้เป็นอย่างดี
          กัณฑ์ ตามปกติการเทศน์มหาชาติทุกกัณฑ์ จะต้องมีชาวบ้านเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องกัณฑ์มาถวาย กัณฑ์หนึ่ง ๆ  อาจมีหลาย ๆ คนช่วยกันจัดร่วมกัน หรือต่างคนต่างจัดกัณฑ์มาก็ได้ กัณฑ์เทศน์ นอกจาก ปัจจัยไทยทานต่าง ๆ แล้ว ยังมีเทียนตามจำนวนคาถา ของแต่ละกัณฑ์ด้วย จำนวนเทียนคาถาของแต่ละกัณฑ์ เมื่อรวมทุกกัณฑ์แล้ว จะมีเทียนคาถาหนึ่งพันพอดี เมื่อเวลาพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ เจ้าภาพ ก็จะจุด เทียนคาถา หว่านข้าวตอกข้าวสารตามประเพณี ในระหว่างเทศน์บางทีมีการถวายกัณฑ์เพิ่มเติม เรียกว่า "กัณฑ์แถมสมภาร" คือ ถึงบทใดกัณฑ์ใด  ที่พระเทศน์ ดี มีเสียงไพเราะ มีเนื้อหากินใจ ผู้ฟังจะถวาย แถมให้ แล้วแต่ศรัทธาของผู้ฟัง ส่วนใหญ่จะถวายเป็นเงิน เมื่อเทศน์จะเอาเงินที่แถมสมภารนี้ ไปถวายรวมกับปัจจัย กัณฑ์เทศน์ด้วยเ เมื่อเทศน์จบกัณฑ์หนึ่ง ๆ  มีการตีฆ้อง เป็นสัญญาณ

กัณฑ์หลอน (อีสานออกเสียงเป็น กะหลอน) คือ กัณฑ์เทศน์ที่ทำพิธีแห่ไปจากบ้าน (เรียกว่า แห่กัณฑ์หลอน หรือ แห่กะหลอน) ไม่จำเพาะกัณฑ์ใด กัณฑ์หนึ่ง และเจาะจงจะถวายพระรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อแห่ กัณฑ์หลอนไปถึงวัด พระรูปใดกำลังเทศน์อยู่ เมื่อท่าน เทศน์จบ ก็นิมนต์มารับกัณฑ์หลอนนั้น ในงานบุญพระเวส คราวหนึ่ง อาจมีกัณฑ์หลอนสักกี่กัณฑ์ก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาของประชาชนในระแวกนั้น

          นอกจากนี้ อาจมีกัณฑ์พิเศษที่เจ้าของกัณฑ์ เจาะจง จะนำไปถวายพระผู้เทศน์รูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" หมายถึง ก่อนนำกัณฑ์ไปถวาย ไปแอบบดู (จอบดู ในภาษาอีสาน แปลว่า แอบดู) ให้รู้แน่เสียก่อนว่า เป็นพระรูปที่เจาะจง จะนำกัณฑ์ไปถวาย จึงแห่กัณฑ์นั้นเข้าไปยังวัด ขณะที่พระรูปนั้นกำลังเทศน์อยู่ และเมื่อเทศน์จบ ก็นำกัณฑ์ไปถวายพอดี

          เทศน์แหล่ คือ ทำนองเทศน์เล่นเสียงยาว ๆ  คล้าย ทำนองลำยาว มีการเล่นลูกคอ และทำเสียงสูงต่ำ เพื่อให้เกิดความไพเราะ เรื่องมหาชาตินี้ ที่นิยมเทศน์ และแหล่ได้แก่ กัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มหาราช หรือ นครกัณฑ์ การเทศน์แหล่ จะนิมนต์พระที่เสียงดี เทศน์คั่นกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ฟังเกิดความไพเราะซาบซึ้ง ไม่เกิดการเบื่อหน่าย (ผู้จัดทำเกือบจะได้ฝึกหัดอยู่แล้ว แต่เพราะความไม่ชอบจึงไม่ได้ฝึก สมัยเป็นสามเณร เจ้าอาวาสท่านเทศน์แหล่เป็น ท่านจะแหล่เล่นเป็นประจำ)

ที่มา
www.allknowledges.tripod.com

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บุญข้าวจี่


บุญข้าวจี่ เป็นงานบุญประเพณีของชาวอีสาน ที่กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่า บุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญที่มีกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง ดังรู้จักกันทั่วไปว่า เดือนสามคล้อยจั่วหัวปั้นข้าวจี่ เดือนสี่คล้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)
            บุญข้าวจี่นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม  คือ  ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา  (เดือนสาม ขึ้น ๑๔ ค่ำ) แล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนหลายหมู่บ้าน นั่นคือ ชาวอีสานบางหมู่บ้านเรียกงานบุญนี้ว่า บุญคุ้ม จะทำกันเป็นคุ้ม ๆ หรือ บางหมู่บ้านก็จะทำกันที่วัดประจำหมู่บ้าน ล้วนแล้วแต่เป็น บุญข้าวจี่ หรือบุญเดือนสามนั่นเอง ชาวบ้านที่เป็นเจ้าภาพก็จะบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมกันทำบุญ 


                                                                                                                                              ข้าวจี่ คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือเคล้าให้ทั่ว เอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า  ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียกหัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน มีคำพังเพยอีสานว่า

 "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา"

 เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง

 "เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำเข้าจี่ ไปถวายสงฆ์เจ้าเอาแท้หมู่บุญ"

 ประวัติความเป็นมาประเพณีบุญข้าวจี่

                มูลเหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสาม เนื่องจากเป็นเวลาที่ชาวนาได้มีการทำนาเสร็จสิ้น  ชาวนาได้ข้าวขึ้นยุ้งใหม่จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายแก่พระสงฆ์  สำหรับมูลเหตุดั้งเดิมที่มีการทำบุญข้าวจี่ มีเรื่องเล่ากันตามความเชื่อว่า  ในสมัยพุทธกาล นางปุณณะทาสี  ได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ  ครั้นถวายแล้วนางคิดว่าพระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะ อาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน
 
        เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะจิตของนางปุณณะทาสี  จึงรับสั่งให้พระอานน์ปูลาดอาสนะแล้วทรงประทับนั่งฉันท์    ที่นางถวายนั้น เป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งและเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็บรรลุโสดาบันปัตติผลด้วยอานิงสงฆ์ที่ถวายขนมแป้งจี่  ชาวอีสานจึงเชื่อในอานิสงส์ของการทานดังกล่าวจึงพากันทำข้าวจี่ถวายทานแด่พระสงฆ์สืบต่อมา

ที่มา
www.lib.ubu.ac.th

ชนเผ่าลาว


    พี่น้องเอ้ย ไผ๋เมืองศรีสะเกษแล้ง หันมาแย้งเบิ่งกะน้า วัฒนธรรมล้ำค่า ของดี 4 เผ่าได้ ของกินของใช้ มีไว้ให้เบิ่งทุกฤดู ผลไม้กะหลายอยู่ ทางเมืองกันทรลักษณ์ศรี ผักหอมกระเทียมมีหลายล้น อยู่ทางฝั่นโพ้น  กันทรารมย์ ยางชุมน้อย ราษีไศลกะมีบ่หน่อยลื่นกัน อีกทั้งปิ้งไก่นั้น ไม้มะดันอันเลื่องชื่อ พระธาตุเรื่องรองจื่อ ของมงคลคู่บ้าน ขอเชิญท่านได้แวะชม
หลายๆคน จะฮู้จักว่าเมืองศรีสะเกษ มี อยู่ 4 เผ่า คือ ส่วย ลาว เขมร เยอ จะแบ่งแยกกันอยู่ตาม ถิ่นฐาน ที่เคยได้อพยพมา ละมื้อนี้ นู๋น้อย ขอนำเสนอที่มาที่ไปของชนเผ่าลาวในศรีสะเกษ

การตั้งถิ่นฐานชาวลาว จ.ศรีสะเกษ                                                                                                                                                                                      ชาวลาวใน จ.ศรีสะเกษนั้นมีความสัมพันธ์กับชาวลาว ในประเทศลาวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศลาวมีหลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมเข้าเป็นสามเหง้าด้วยกันคือ เหง้าอินโดนีเซีย เหง้าจีนและเหง้าไทลาว เหง้าอินโดนีเซียเป็นชนเผ่าที่ถูกเรียกว่าสลาวเทิงหรือชาวข่า เหง้าจีนเป็นชนเผ่าที่ระยะหลังเรียกว่าลาวสูง ได้แก่พวกเผ่าแม้ว เย้า เหง้าไทลาวหมายถึงลาวทีลุ่มได้แก่ชนเผ่าไท ผู้ไทและลาว ดังนั้นการกล่าวถึงชาวลาวใน จ.ศรีสะเกษ    จึงขอกล่าวเฉพาะเผ่าไทลาวเท่านั้น        ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 มีชนเผ่าไทจำนวนหนึ่งล่องเรือลงมาจากตอนใต้ของประเทศจีน มาตามลำแม่น้ำแดง เเม่น้ำอู แม่น้ำโขงลงมาประเทศลาว นำโดยขุนลอ เข้ารบกับขุนกันฮางและหลานเหลน พ่ายหนีตกเมืองน้ำทาพันแล เมื่อนั้นขุนลอจึงได้ตั้งเมืองเป็นท้าวเป็นพญาแก่ลาวทั้งหลาย ก่อนท้าวพญาลาวทั้งหลายทั้งมวล จากขุนลอราชวงศ์ลาวได้สืบทอดกันลงอีก 20 รัชกาลจนถึงสมัยเจ้าฟ้างุ้ม                                                                                                                                                                                    ใน พ.ศ. 2237 ทางราชสำนักนครเวียงจันทน์ เกิดแย่งชิงอำนาจกัน พวกราชวงศ์ลาวต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสถานที่ต่างๆ ส่วนหนึ่งมีผู้นำที่เป็นศรัทธาของประชาชน คือพระครูยอดแก้ว วัดโพนสะเม็ก มีศิษย์ตามมามากประมาณ 3,000 คน ได้ลงมาอาศัยกับพญาข่าผสมลาวแห่งนครจำบากนาคบุรีศรี ได้มีความสัมพันธ์กับข่าที่มีนางเพานางแพงเป็นผู้ครองนคร ท้ายที่สุดนครจำบากก็ตกอยู่ในอำนาจของราชวงศ์ลาว ที่สถาปนาอาณาจักรลาวใต้ขึ้นมา เปลี่ยนชื่อเป็นนครจำปาศักดิ์ นัคบุรี มีกษัตริย์เชื้อสายลาวที่อพยพลงมานั้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2256 พระนามว่าพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (พ.ศ. 2256-2281) แล้วจัดการปกครองหัวเมืองข่าทั้งปวงทั้งในเขตลาวใต้ อันได้แก่สาละวัน จำปาศักดิ์ อัตปือ ตลอดจนส่งเสนาข้าราชบริพารไปตั้งเมืองถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ถึงเมืองนครเขต ซึ่งเป็นเมืองลาวที่ตั้งใหม่ในเขต จ.ศรีสะเกษ
ชาวลาวที่เข้ามาในรุ่นนี้ จากหลักฐานน่าจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนตามหมู่บ้านใหญ่ๆ ในลุ่มแม่น้ำมูล เช่น ที่ตั้งของเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน บานหนองครก บ้านคูซอด บ้านหนองโน อ.เมืองศรีสะเกษ  ดังประวัตหมู่บ้านที่ได้ระบุไว้                      
บ้านหนองครก หมู่ที่1 และหมู่ที่ 5 อ.เมืองศรีสะเกษ ที่ชื่อบ้านหนองครกเพราะมีตำนานว่า ในวันพระเวลาข้างขึ้นข้างแรมเวลากลางคืน จะได้ยินเสียงกลองที่หนองน้ำ และมีครกสีทองผุดขึ้นมาลอยเหนือน้ำ จึงได้ชื่อว่าบ้านหนองครก บรรพบุรุษเดิมของชาวหนองครกเป็นพวกลาวกาวที่มาจากนครจำปาศักดิ์ มาตั้งถิ่นฐานก่อนตั้งเมืองขุขันธ์                                       
บ้านคูซอด หมู่ที่1 หมู่ที่ 2 ต.คูซอด อ.เมืองศรีสะเกษ ชาวบ้านคูซอดอพยพมาจากเวียงจันทร์ มาตั้งบ้านที่บ้านโนนหนองหว้า ตอนหลังเปลี่ยนเป็นบ้านคูซอด เมื่อเกิดศึกพระตาได้กวาดต้อนคนกลับไปลาว จน พ.ศ. 2321 จึงได้อพยพกลับมาอยู่ที่เดิม

บริเวณที่ตั้งเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณวัดมหาพุทธาราม ในช่วงที่มาตั้งเมือง พ.ศ. 2328 ได้พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่กลางป่า ซึ่งปัจจุบันได้บูรณะให้เป็นพระประธานของวัดมหาพุทธาราม                                     เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 24 พวกเจ้าลาวกลุ่มพระวอพระตาได้อพยพจากนครเวียงจันทน์ เข้ามายังบริเวณลุ่มน้ำมูล- ชี เอกสารพื้นเมืองยโสธรกล่าวว่า พบแต่พวกผีที่เป็นเจ้าของป่าและลำน้ำ จนมีการรบราฆ่าฟันก่อนที่จะตั้งหลักแหล่งได้ ใน จ.ศรีสะเกษได้พบหลักฐานที่สำคัญว่าชาวลาวกลุ่มพระวอพระตา จะกระจายอยู่ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ                     หลายหมู่บ้านดังนี้
บ้านกุดโง้ง หมู่ 6 ต.โพนข่า อ.เมืองศรีสะเกษ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2310 โดยผู้นำคือเจ้าชัยสารโพธิสาร เมืองเวียงจันทร์อพยพมากับพระวอพระตา โดยมีลาวสั้นจากนครจำปาศักดิ์รวมกลุ่มมาเป็นส่วนใหญ่ นำขบวนมาพิชิตชาวข่า ส่วย เยอ จนสามารถสร้างบ้านได้เมื่อวันเพ็ญเดือน 5 พ.ศ. 2320 ก่อนตั้งเมืองศรีสะเกษประมาณ 5 ปี
บ้านโพนข่า หมู่ที่ 1 ต. โพนข่า .เมือง ศรีสะเกษ อพยพมาจากดินแดนประเทศลาว เป็นพลพรรคไพร่พลของเมืองเเสนหน้าง้ำและพระวอ พระตา โดยมีหลวงปู่สริยา พระเถระอาวุโสหนีภัยมาด้วย
บ้านเมืองน้อย หมู่ที่ 1,6,7 ต.เมืองน้อย อ.กันทรารมย์ ความหมายของชื่อหมู่บ้านเป็นที่พักของผู้ครองนคร บ้านเมืองน้อยสืบเชื้อสายมาจากเมืองหนองบัวลำภ ูหรือนครเขื่อนขัณธ์กาบแก้วบัวบาน ถิ่นฐานเดิมอยู่ในจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบันนี้

อ.บึงบูรพ์ โดยเฉพาะ ต.บึงบูรพ์ หมู่ ที่ 1,2,3,8 ซึ่งได้แก่ บ้านเป๊าะ บ้านโนนสาวสวย บ้านจอมพระ บ้านนาสวน และบ้านนาหล่ม และเครือญาติของชาวบ้านเป๊าะในต.เป๊าะ ซึ่งได้แก่ บ้านหาด บ้านหมากยาง จะเป็นหมู่บ้านชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทร์ ด้วยเหตุผลที่ไม่ปรากฏชัดหรือหลบภัยการเมือง สำเนียงภาษาที่ชาวบ้านเป๊าะพูดเหมือนพี่น้องลาวชาวอุบล (จากการศึกษาของวิรอด ไชยพรรณา พบว่าเผ่าที่นับถือญาพ่อคือเผ่าลาว จะปรากฏที่ อ.บึงบูรพ์เกือบทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านที่นับถือญาพ่อจะอยู่ใกล้บริเวณป่าดงภูดิน  อ.ราษีไศล

อ.ยางชุมน้อย มีชาวลาวที่อพยพมาคราวสงครามพระวอ พระตา ส่วนหนึ่งมาอยู่ที่บ้านดวนใหญ่ แต่เมื่อสงครามสงบเกิดคิดถึงบ้านเดิมจึงอพยพกลับ ส่วนหนึ่งเดินทางมาถึงบ้านเจียงอี จึงตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นั่น อีกส่วนหนึ่งเดินทางต่อไปพบสถานที่เหมาะสม จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านยางชุมน้อย โดยไม่ได้กลับไปเวียงจันทร์แต่อย่างใด

กลุ่มชาวลาวที่เข้ามาสมัยกรุงธนบุรี                                                                                                                             การยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ จำปาศักดิ์จนได้รับชัยชนะ ได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทร์มาเป็นจำนวนมาก มาอยู่ที่ ต.สิ ,ต.ขุนหาญ, อ.ขุนหาญ ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษ ,บ้านตาอุด บ้านโสน อ.ขุขันธ์ , หลวงปราบ(เป็นทหารเอกในศึกครั้งนี้ ซึ่งไปได้ภรรยาม่ายเป็นชาวลาว)ได้นำครอบครัวนางคำเวียงพร้อมบริวารไปอยู่ที่บ้านบก อ.ขุขันธ์ ก่อนที่จะย้ายเมืองมาตั้งที่หนองแตระในเวลาต่อมา                                                                                                                  หลังจากที่ชาวลาวได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใน จ.ศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง ชาวลาวที่เรียนหนังสือและเป็นพระ ได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและภาษา เข้าไปยังชุมชนชาวพื้นเมือง ชาวกวย เขมร เยอ มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับในระยะหลัง ชาวลาวได้อพยพเข้าไปแทรกอยู่ในเกือบทุก อ. โดยเฉพาะ  อ.เมือง ยางชุมน้อย กันทรารมย์    โนนคูณ กันทรลักษ์ จะมีจะประชากรชาวลาวเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันภาษาลาวจึงเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันส่วนใหญ่ในจ.ศรีสะเกษ
ที่มา
www.baanmaha.com

 

ปัญหาสังคม


                                                                    
             การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  และมีผลกระทบต่อเนื่องกัน  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ย่อมส่งผลไปถึงสิ่งอื่น ๆ ด้วย  การเปลี่ยนแปลงบางเรื่องเป็นไปอย่างช้า ๆ  บางเรื่องเป็นไปอย่างรวดเร็ว 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ส่งผลต่อสังคม  ทำให้เกิดปัญหาสังคมในวงกว้างที่ทำให้ต้องแก้ไขอย่างเป็นกระบวนการ

ความหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคม  (Social Change)

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  (2524 : 337) ให้ความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้ว่า

การที่ระบบสังคม  กระบวนการ  แบบอย่างหรือรูปแบบทางสังคม  เช่น  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ระบบครอบครัว  ระบบการปกครองได้เปลี่ยนแปลงไป  ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม  การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้  อาจจะเป็นไปในทางก้าวหน้า  หรือถดถอย  เป็นไปอย่างถาวรหรือชั่วคราว  โดยวางแผนให้เป็นไปหรือเป็นไปเอง  และที่เป็นประโยชน์  หรือให้โทษก็ได้ทั้งสิ้น

กระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม

นักสังคมวิทยา  William  Ogburn  (อ้างถึงใน  Henslin 1996: 387-388)ได้กล่าวถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 3 กระบวนการ ที่เทคโนโลยีสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลโดยผ่านการประดิษฐ์คิดค้น  การค้นพบ  และการแพร่กระจาย

1.  การประดิษฐ์คิดค้น  (Invention)  Ogburn  ได้นิยามการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ว่าเป็นการรวมกันขององค์ประกอบที่มีอยู่แล้วและอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้น  ในขณะที่เรามักจะคิดถึงการประดิษฐ์คิดค้นในแง่ของวัตถุ  เช่นคอมพิวเตอร์  แต่ที่จริงแล้วยังมีการประดิษฐ์คิดค้นทางสังคม  (Social  inventions)  เช่นทุนนิยม  และระบบราชการ  สิ่งประดิษฐ์ทางสังคมสามารถมีผลสืบเนื่องแผ่ขยายกว้างไกลออกไปในสังคม

2.  การค้นพบ  (Discovery)  เป็นวิธีการใหม่ของการมองความจริง  โดยทั่วไปความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว  แต่คนเพิ่งจะพบมันเป็นครั้งแรก  ยกตัวอย่างเช่น  โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาเหนือ  ซึ่งผลที่ต่อเนื่องมามีมหาศาลถึงกับเปลี่ยนประวัติศาสตร์  อย่างไรก็ตาม  ตัวอย่างนี้ก็เป็นการอธิบายถึงหลักการประการหนึ่งคือ  การค้นพบที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางได้นั้นต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม  เพราะที่จริงแล้วชาวไวกิ้ง  (Viking)  ได้ค้นพบอเมริกาก่อนหน้าโคลัมบัสแต่ไม่ได้ส่งผลต่อเนื่องเท่ากับการค้นพบของโคลัมบัส

3.  การถ่ายทอดลักษณะวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง  (Diffusion)  เป็นการแผ่ขยายการประดิษฐ์คิดค้นหนึ่ง  หรือการค้นพบจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง  และมีผลแผ่กว้างขยายไปยังความสัมพันธ์ของมนุษย์

4.ระดับวัฒนธรรม  (The Culture  Level)  หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในเจตคติและค่านิยมในสังคม  การเปลี่ยนแปลงระดับนี้มักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ช้าที่สุด  ล้าหลังนวัตกรรมและเทคโนโลยี  เช่น  ค่านิบมในการแข่งขันกันเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐที่มีชื่อเสียง

 กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เกิดปัญหาสังคม  ที่ประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่  หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วนเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม ที่เรียกว่าเป็นปัญหาสังคมซึ่งมีสาเหตุของปัญหาคือ

1. สภาพพยาธิวิทยาทางสังคม  คือเป็นสภาพที่สังคมเหมือนร่างกายของมนุษย์มีการเจ็บป่วยเนื่องจากผู้คนในสังคมละเมิดศีลธรรม ขาดคุณธรรมจริยธรรม ไม่ยึดถือความดีเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

2.  การเสียระเบียบทางสังคม หมายถึงเมื่อสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมเก่ามาสู่วัฒนธรรมใหม่ผู้คนเกิดการไม่เข้าใจถ่องแท้เกิดความวุ่นวายสับสนอลหม่าน

3.  การขัดกันในค่านิยมหมายถึงสภาพสังคมที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมเช่นการแย่งชิงด้านวัตถุ  เงินทอง  ชื่อเสียง   อำนาจตำแหน่ง

4. ภาวะพฤติกรรมเบี่ยงเบน หมายถึงสภาพคนที่ละเมิดไม่ยึดถือบรรทัดฐานของสังคมมีพฤติกรรมที่แปลกแยกออกไปเป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

5.  การขนานนาม  หมายถึงปัญหาสังคมที่เกิดจากการที่คนสำคัญหรือคนที่มีอิทธิพลเรียกชื่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งให้เป็นปัญหาแล้วให้คนในสังคมเชื่อตาม
ปัญหาสังคมมีสาเหตุมาจากสภาพต่างๆที่กล่าวมาซึ่งภาวะต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักทางสังคมดังนี้
1.  ปัญหาด้านเศรษฐกิจ  สถาบันเศรษฐกิจคือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  การแจกจำหน่ายและบริโภคภายในประเทศ
  รูปแบบของสถาบันเศรษฐกิจ  มีดังนี้
-  ทุนนิยม  เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน  มีอิสระดำเนินการอย่างเสรี
-  สังคมนิยม  รัฐบาลเข้าควบคุมดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่
-  แบบผสม  รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการผลิตบางประเภท
-  แบบคอมมิวนิสต์  รัฐกำหนดให้บุคคลให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจต่อกันและควบคุมมิให้มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจ  เพื่อความเป็นธรรมในสังคม
   สาเหตุของปัญหา
-  การส่งออก  ปัญหาคือ  คุณภาพสินค้าไม่มีคุณภาพมาตรฐาน
-  การลักลอบนำเข้า  ปัญหาคือ  การลักลอบนำสินค้าเข้าโดยไม่เสียภาษี  ทำให้ทำลายเศรษฐกิจของชาติอย่างมาก
-  ค่านิยมการใช้สินค้าไทย  ปัญหาคือ  คนไทยนิยมสินค้าต่างประเทศทำให้เม็ดเงินตกไปอยู่กับต่างชาติทำให้การหมุนเวียนเศรษฐกิจไม่ดี
ผลกระทบต่อการศึกษา 
   -เศรษฐกิจไม่ดี  ผู้ปกครองตกงาน  ไม่มีรายได้
แนวทางในการแก้ไข
-  ปรับปรุงระบบงบประมาณ
-  อัตราครูต่อนักเรียน  เพื่อให้ได้คุณภาพ
-  พัฒนาระบบอาชีวศึกษาให้มีฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
-  ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการศึกษา
2.  ปัญหาด้านการเมือง
ถาบันการเมืองมีอิทธพลในการกำหนดนโยบาย  และควบคุมการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ในรัฐธรรมนูญ  พระราชบัญญัติต่าง ๆ  และแผนการศึกษาชาติ
สาเหตุของปัญหา 
 -  การปรับเปลี่ยนรัฐบาลทำให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย
-  การใช้อำนาจโดยมิชอบ  ไม่มีความยุติธรรมในระบบราชการ  การคอรัปชั่น
ผลกระทบต่อการศึกษา
-  การปฏิบัติงานบนนโยบายที่ไม่แน่นอน
-  การสร้างประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น  ยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
-  ความล่าช้าในการตัดสินใจ
-  งบประมาณน้อย
-  ความเสมอภาค
แนวทางในการแก้ไข
-  ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกรูปแบบ
-  สถาบันการศึกษาต้องสอนให้เยาวชนเป็นพลเมืองดีของชาติ
3.  ปัญหาด้านครอบครัว
สถาบันครอบครัว  หมายถึง  คนสองคนมาอยู่รวมกัน  โดยมีความสัมพันธ์กันด้วยการแต่งงาน  ลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว  ครอบครัวขยาย
ครอบครัวเดี่ยว  หมายถึง  ครอบครัวที่มีคนสองคนแต่งงานกันประกอบด้วยพ่อ  แม่  ลูก  อยู่ด้วยกัน  แล้วแยกครอบครัวออกไปอยู่ตามลำพัง
ครอบครัวขยาย  หมายถึง  ซึ่งมีคนสามรุ่นอาศัยรวมกัน  ได้แก่  ปู่ย่า  ตายาย  พ่อแม่  และลูก
สาเหตุของปัญหา   
บุคลิกภาพเบี่ยงเบน  การใช้ความรุนแรงในครอบครัว  รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย  ฯลฯ
ผลกระทบต่อการศึกษา 
 พฤติกรรมของผู้เรียน  ค่าใช้จ่ายในการเรียน  การขาดสมาธิในการเรียน  ปัญหาวัยรุ่น ฯลฯ
แนวทางในการแก้ไข 
สถาบันการศึกษาควรเตรียมทักษะเบื้องต้น  ชีวิตครอบครัว  ความรับผิดชอบต่อครอบครัว
4.  ปัญหาสถาบันศาสนา
สถาบันศาสนา  มีหน้าที่พิเศษในการศึกษาอบรมปลูกฝัง  คุณธรรมจริยธรรม  จิตสำนึกให้แก่คนในชาติให้รู้ผิดชอบชั่วดี
สาเหตุของปัญหา
   ความประพฤติของพระสงฆ์  ทำให้ขาดความเชื่อศรัทธาในศาสนา / การศึกษาของสงฆ์ขาดการดูแล
ผลกระทบต่อการศึกษา
  ผู้บริหาร  ครู  นักเรียน  ไม่เชื่อคำสั่งสอนไม่มีธรรมะ  ประพฤติผิด
แนวทางในการแก้ไข 
 นิมนต์พระสงฆ์ที่มีคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
5.  ปัญหาด้านสื่อมวลชน
สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร  และให้ความรู้แก่ประชาชน  ได้แก่  หนังสือพิมพ์  โทรศัพท์  วิทยุ  และอินเตอร์เนต
สาเหตุของปัญหา   
สื่อไม่เป็นกลาง  ขาดจรรยาบรรณในวิชาชีพมุ่งแต่ผลประโยชน์
ผลกระทบต่อการศึกษา  การใช้เวลาของเด็ก  ทัศนคติเชิงลบและเลียนแบบ  เด็กชอบบรรยากาศสื่อมากกว่าในห้องเรียน
แนวทางในการแก้ไข 
ใช้สื่อมาประยุกต์  ให้เป็นบทเรียนผู้สอนควรเลือกสื่อให้เป็นประโยชน์

ที่มา
www.stjohn.ac.th

 

 

 

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศาสนาอิสลาม


 
         ศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในดินแดนทะเลทรายอาหรับ เมืองเมกกะ(ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปัจจุบัน)    เป็นศาสนาที่มีความสำคัญศาสนาหนึ่งของโลกซึ่งมีผู้นับถือจากทุกชาติทุกภาษา มีศาสดาชื่อ ศาสดามุฮัมมัด มีคัมภีร์ได้แก่ คัมภีร์อัลกุรอาน  มีพิธีกรรมเช่น การละหมาด การถือศีลอด การบำเพ็ญฮัจญ์ มีศาสนสถาน เช่น  มัสญิดอัลกะอ์บะฮ์ และเรียกผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามว่า มุสลิม

คำว่า  อิสลาม  เป็นภาษาอรับ  หมายถึง การนอบน้อม มอบตนจำนนต่ออัลลอฮ์  คือการยอมมอบตนตามประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง ยังหมายถึงความสันติความปลอดภัย   อิสลามในฐานะเป็นชื่อของศาสนาใช้ตามคัมภีร์อุลกุรอาน

มุสลิม  คือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม คำว่ามุสลิม ยังมีความหมายรวมถึงผู้ใฝ่สันติ ผู้ยอมมอบกายและหัวใจต่อพระเจ้า  คนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจึงได้ชื่อว่า ชาวไทยมุสลิม

                อัลลอฮ์  พระนามเฉพาะของพระเป็นเจ้า  หมายถึง พระนามของพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล ในศาสนาอิสลามนับถืออัลลอฮ์องค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นผู้บังเกิดโลกนี้และจักรวาลทั้งหลายมา พร้อมทั้งเป็นผู้ทรงบังเกิดสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่เรามองเห็นและสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทรงเป็นผู้สร้าง ทรงเป็นผู้ควบคุม ทรงเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้ทรงประทานสรรพสิ่งทั้งหลายมา

                อัลกุรอาน”  คัมภีร์ของศาสนาอิสลามซึ่งรวบรวมวะห์ยุ หรือพระดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ประทานแก่ศาสดามุฮัมมัด ผ่านมลาอิกะฮ์ที่มีนามญิบรีล เพื่อเป็นสิ่งชี้ทางแก่มนุษยชาติ ถ่ายทอดเป็นภาษาอาหรับ ประทานครั้งแรกในคืนอัลก็อดร์ คือคืนที่สำคัญที่สุดในเดือนเราะมาฎอน

หลักการของอิสลาม  2 ประการ คือ หลักศรัทธา 6 ประการ  และ หลักปฏิบัติ 5ประการ 

หลักศรัทธา 6 ประการ คือ

1)              ศรัทธาในพระเจ้า(อัลลอฮ์)

2)              ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ ของอัลลอฮ์ หรือเทวฑูต

3)              ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮ์

4)              ศรัทธาในบรรดาศาสดาหรือนบี (ศาสดาหรือนบี แปลว่าผู้ประกาศหรือว่าแจ้งข่าว)

5)              ศรัทธาในวันตัดสินและการเกิดใหม่ในปรโลก

6)              ศรัทธาในกฎกําหนดสภาวะ  แห่งธรรมชาติ  แห่งชีวิต

คําว่า “ ศรัทธา “ หมายถึง ความเชื่อถือ ความเลื่อมใส

สําหรับหลักปฏิบัติ มี 5 ประการ คือ

1)            การปฏิญานตนว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และท่านนบีมูฮัมมัด คือศาสนฑูตของพระองค์”

2)            การนมาซ หรือนมัสการวันละ 5 เวลา  คำว่า”นมาช”เป็นภาษาเปอร์เซีย แผลงเป็นภาษาไทยว่า “ละหมาด” เวลาที่กำหนดไว้ คือ ยํ่ารุ่งก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น บ่าย เย็น หัวคํ่า และยามดึกก่อนเที่ยงคืน   การละหมาดอาจทําที่ใดก็ได้ แต่ต้องหันหน้าไปทางเมืองเมกกะประเทศซาอุดิอาระเบีย

3)            การถือศีลอด  (1 เดือน คือเดือนที่ 9 ของฮิจเราะห์สักราช ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม ซึ่งเรียกเดือน”เราะมะฎอน”)

4)            การบริจาคซะกาต

5)            การประกอบพิธีฮัจญ์. คือการไปเยี่ยมหรือการเดินทางไปมักกะฮ์
               ศาสนาอิสลามได้เข้ามาสู่ประเทศตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย โดยมีอิทธิพลอยู่บนแหลมมลายูก่อนแล้ว เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าชาวมุสลิมจากประเทศอาหรับและอินเดียได้เข้ามาทำการค้า และเผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ผู้ที่อยู่บนแหลมมลายู ในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณคริสตศักราช 1590 – 1605 ได้มีพ่อค้าชาวอาหรับจากประเทศเปอร์เซียชื่อ  เฉกอะหมัด  เข้ามาตั้งหลักแหล่งและค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และพ่อค้าผู้นี้ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย คือพระเจ้าทรงธรรมให้เป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัด ตำแหน่งสมุหนายกว่าราชการทางฝ่ายเหนือ ท่านผู้นี้ได้เป็นบรรพบุรุษของตระกูลไทยในปัจจุบันหลายตระกูล สำหรับชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ของไทยนั้นเป็นชนพื้นเมืองมาแต่ดั้งเดิม มิได้สืบเชื้อสายมาจากชาวมุสลิมที่เข้ามาทำการค้า หรืออพยพมาจากดินแดนอื่น เพราะมีหลักฐานปรากฏว่าชนชาติดั้งเดิมเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บนแหลมมลายู ตั้งแต่ก่อนคริสตศักราชเป็นเวลา 43 ปี และมีอาณาจักสำคัญ คืออาณาจักรลังกาซู ต่อมาประมาณคริสตศักราช 220 ชนชาตินี้ก็ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในคริสตศักราช 658 เกิดอาณาจักรขึ้นใหม่ คืออาณาจักรศรีวิชัย มีอิทธิพลแผ่ไปทั้วแหลมมลายู และอาณาจักรที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยด้วย จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่ 8 อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง และอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นแทนที่ คืออาณาจักรมัชปาหิต ต่อมาถึงคริสตศักราช 1401 อาณาจักนี้ก็เสื่อมสลายลง และอิทธิพลของศาสนาอิสลามก็ได้แผ่เข้าแทนที่ วัฒนธรรมอินเดียที่เคยมีอยู่ในบริเวณนี้ประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ 8 ถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 9 ศาสนาอิสลามได้เข้าฝังรกรากในอาณาจักรปัตตานี ซึ่งก่อตั้งโดยพระยาตนกูดันดารา และขยายตัวไปครอบคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้  ในปัจจุบันชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามมีอยู่ทั่วประเทศ

                ชาวไทยมุสลิมทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ณ แห่งใด ถือว่าเป็นคนสัญชาติไทย และมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเท่าเทียมกับชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น ๆ สำหรับชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รัฐบาลให้สิทธิพิเศษให้ใช้กฎหมายอิสลามในเรื่องครอบครัวและมรดก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี จึงกำหนดกฎหมายให้มีผู้พิพากษาพิเศษขึ้น มีหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม นอกเหนือจากผู้พิพากษาที่มีประจำศาลอยู่แล้วเรียกว่  ดาโต๊ะยุติธรรม

               ปัจจุบันศาสนาอิสลาม  มีองค์กรทางศาสนาที่ราชการรับรอง เรียกว่า สํานักจุฬาราชมนตรี   โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นําสูงสุด   มีโครงสร้างการบริหารเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย   กรรมการกลางอิสลามประจําจังหวัด  และกรรมการกลางอิสลามประจํามัสยิด ในแต่ละมัสยิด(สุเหร่า) มีอิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ประเภทละ 1 คน รวม 3 คน เป็นผู้ปกครองดูแลสัปปุรุษ

                อิสลามไม่มีนักบวชในศาสนา ชื่อที่เรียกผู้นำในระดับต่างๆ มีความหมายดังนี้

                อิหม่าม     หมายถึง ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด

                คอเต็บ       หมายถึง ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด

                บิหลั่น      หมายถึง  ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา

                คณะกรรมการกลาง   หมายถึง  คณะกรรมการกลาง ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด

                สัปปุรุษประจำมัสยิด  หมายถึง  มุสลิมที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีมติรับเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด  และมีชื่ออยู่ในทะเบียนสัปปุรุษประจำมัสยิด  และผู้นั้นจะเป็นสัปปุรุษเกินกว่าหนึ่งมัสยิดในเวลาเดียวกันไม่ได้

ที่มา

1.             รายงานสถิติด้านศาสนาของประเทศไทย ปี 2542  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี

2.             คู่มือพื้นฐานอิสลาม  อิมรอน บินยูซุฟ  อลีย์ บินอิบรอฮีม เขียน  สำนักพิมพ์อัล-อีหม่าน

3.             พจนานุกรม ศัพท์ศาสนาสากล อังกษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน )
4.        www.catholic.or.th