ประชาชนไทยมีเสรีภาพทางการเมืองพอสมควร สามารถที่จะแสดงออกทางการเมืองได้
ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมือง แม้จะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองมารองรับ เช่น
ในกาเลือกตั้งหลายครั้งแม้ไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง แต่ในพฤติกรรมความเป็นจริงนั้น ก็มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นพลายพรรค
โดยอาศัยเสรีภาพที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทการรวมกลุ่มเป็นสมาคมสหภาพ
ก็สามารถทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น
การเดินขบวน หรือการชุมนุมกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ก็มีปรากฏและไม่ได้รับการขัดขวางในการแสดงออก ตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดกฎหมาย เสรีภาพในการพูด การพิมพ์และโฆษณา ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวาง จนน่าจะเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยนั้น
ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน
ตามหลักประชาธิปไตย
ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศให้กฎอัยการศึก
และมีประกาศหรือคำสั่งและกฎหมายบางฉบับจำกัดเสรีภาพในทางการเมืองบ้าง
แต่ในทางปฏิบัติก็มีการผ่อนผันและไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้จนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกทางการเมือง
ถ้าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.
2534 และรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ใช้มาก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาทางการเมืองของไทยต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยมีระบบพรรคการเมือง ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมาก
เป็นต้นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังกำหนดว่า
เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วจะพ้นจากการเป็น
ส.ส.ทันทีที่ลาออกหรือถูกขับไล่ออกจากพรรค
จึงทำให้พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการในสภา นอกจากนี้
พะราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524
ยังพยายามวางแนวทางให้พรรคการเมืองมีลักษณะเป็นพรรคที่มีฐานสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวาง กล่าวคือต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน
และต้องอยู่ในทุกภาค ภาคละไม่น้อยกว่า 5
จังหวัด จังหวัดหนึ่งต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน
การเมืองระดับท้องถิ่น อันได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ซึ่งเป็นระดับ และรูปแบบที่สำคัญนั้นก็ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล และสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อต้นปี พ.ศ. 2523
เป็นต้นมา หลังจากที่ได้งดเว้นมานาน ปัจจุบันนี้ก็ได้ให้มีการดำเนินการ การปกครองระดับท้องถิ่นในแบบประชาธิปไตย
ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองระดับท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามการเมืองระดับท้องถิ่นนี้ก็ยังไม่สู้ได้รับการสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางนัก
จะเห็นได้จากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก
รูปแบบลักษณะของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็ยังค่อนข้างเป็นไปแบบเดิม คือ
ไม่สู้อิสระในการดำเนินการมากนัก
ทางการยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมและดำเนินการอยู่และยังได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการที่จะเห็นรูปการเมืองการปกครองไทยพัฒนาไปสู่รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ
หากประชาชนมีความตื่นตัวและมีความสำนึกทางการเมืองสามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองได้ถูกต้อง
สนใจที่จะใช้สิทธิทางการเมืองลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีเข้าสู่สภา บทบาท
และพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมือง
และกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ
และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้
ทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายขึ้นและเมื่อใดประชาชนส่วนใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้ว
ก็เป็นที่แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีเสถียรภาพมั่นคงอยู่คู่กับการปกครองไทยตลอดไป
ปัจจุบันนี้จากการพิจารณาบรรยากาศการเมืองไทย อาจกล่าวได้ว่า มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ประชาชนมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกทางการเมืองมากขึ้น
จะเห็นได้จากสถิติผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระยะหลังมีจำนวนเกินครึ่งทุกครั้ง (การเลือกตั้งเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2526
มีผู้ไปลงคะแนนจำนวนร้อยละ 50.76 การเลือกตั้งเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ร้อยละ
61.43 การเลือกตั้งเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ร้อยละ 63.56 และการเลือกตั้งเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ. 2535
ร้อยละ 61.59)
มีการเผยแพร่ข่าวสารการเมืองอย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชนทุกประเภททั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ
และโทรทัศน์ทำให้ประชาชนสนใจและเข้าใจการเมืองมากขึ้น แม้ว่าจะยังมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่บ้าง เช่น
การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินที่เข้ามามีบทบาทสูงในการเลือกตั้ง หรือการที่นักการเมืองบางคน
มีบทบาทเป็นนักธุรกิจการเมืองแต่ในการเมืองระบบเปิด
และในยุคที่ข่าวสารที่แพร่หลายได้กว้างขวางเช่นทุกวันนี้ ก็คงพอที่จะให้ความเชื่อมั่นได้ว่า
ประชาชนจะมีส่วนช่วยควบคุมให้การเมืองพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับประชาชนโดยส่วนรวมมากขึ้น
เพราะการกระทำที่ไม้ชอบมาพากลของนักการเมืองจะถูกเปิดเผยให้ทราบต่อสาธารณะทำให้ผู้ที่เป็นนักการเมืองต้องระมัดระวัง
พฤติกรรมของตนตามสมควร
อย่างไรก็ตาม
เป็นที่ยอมรับกันว่าในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองในระดับชาติ
หรือกลุ่มการเมืองในระดับท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อเข้าสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ
แล้วยังต้องการให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนในลักษณะกลุ่มผลประโยชน์ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มอุดมการณ์ กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ
ที่ไม่ต้องการเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง
แต่ทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น
วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาหรือประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้น แสงดความต้องการให้ผู้ปกครองรับทราบ
ทำให้ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องของกลุ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ซึ่งปัจจุบันนี้ในการเมืองไทยก็มีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งที่จัดตั้งเป็นทางการ เช่น สหภาพ
สมาคม หรือจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ
เช่น กลุ่ม ชมรมต่างๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ หรือเฉพาะกาลเป็นครั้งคราว
เข้ามามีบทบาทในทางการเาองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายตามที่กลุ่มชนต้องการ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นักศึกษา กรรมกร
ชาวไร่ ชาวนา
ก็มีการชุมนุมหรือเดินขบวนเพื่อให้ทางการได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มหรือกับส่วนรวมอยู่เสมอ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ
ทำให้รัฐบาลต้องตื่นตัวอยู่เสมอในอันที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาของประชาชน การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาเช่นนี้
ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย เพราะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการพยายามสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
ยังมีสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่จะขาดเสียมิได้ คือ ประชาชนทุกคนต้องมี ขันติธรรม กล่าวคือ
สมาชิกในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้มีความอดกลั้น อดทนอย่างยิ่ง
ต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับความเห็นของตนได้ ต้องรอฟังความเห็นส่วนใหญ่จากบรรดาผู้เกี่ยวข้องในการที่จะดำเนินการ หรือแก้ไขปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
ทั้งต้องทนต่อสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ กระบวนการของประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องอาศัยเวลา
ต้องค่อยเป็นค่อยไปและต้องมีการกระทำอย่างต่อเนื่อง
สมาชิกของสังคมนี้จึงต้องได้รับการปลูกฝังคุณสมบัติดังกล่าวตั้งแต่เยาว์วัยและพัฒนาขึ้นตามลำดับ ดังนั้น
การปฏิวัติ (การหมุนกลับ
การเปลี่ยนแปลงระบบ)
หรือการรัฐประหาร (มีการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลโดยฉับพลัน)
จึงเป็นวิธีการซึ่งขัดกับหลักการของระบอบประชาธิปไตยและไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการปกครองระบอบนี้อย่างแน่นอน
เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจะต้องมีการล้มเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และการจัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ทุกครั้งไป
เป็นเหตุให้ผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและของประชาชนต้องชะงักงันไป
ที่มา
www.mwit.ac.th