วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กลุ่มคน แต่และเผ่าพันธุ์ และชาติ สร้าง สั่งสม ถ่ายทอดอบรม ขัดเกลา ลูก หลาน อนุชนรุ่นใหม่ในสังคมหรือชาติ ปฏิบัติสืบทอดเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขวัฒนธรรมจึงเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจของมนุษย์ เป็นแบบแผนของพฤติกรรม ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเอกภาพของ แต่ละสังคมและประเทศ ประเทศใดมีวัฒนธรรมดี จะส่งผลต่อความเจริญของคนในสังคม
2.1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัฒนธรรม
คำว่าวัฒนธรรมมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า cultura ภาษาอังกฤษใช้ คำว่า culture ไทยได้บัญญัติคำว่า ” วัฒนธรรม ” ขึ้นใช้เมื่อพุทธศักราช 2483 ในสมัย รัฐบาลจอมพล ป . พิบูลสงคราม โดยศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ครั้งแรกทรงบัญญัติ คำว่า “พฤทธิธรรม ” ขึ้นใช้ก่อน เมื่อทรงเห็นว่าไม่เป็นที่นิยมใช้จึงทรงเปลี่ยนไปใช้คำว่า วัฒนธรรม ซึ่งเป็นคำที่มี ความไพเราะและมีความหมายสอดคล้องกับวิชาภาษาอังกฤษ คำนี้จึงเป็นที่ยอมรับและใช้กัน อย่างแพร่หลายและยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้
พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ . ศ .2485 กล่าวว่า วัฒนธรรมหมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาของ วัฒนธรรมไทยได้ให้ความหมายของ วัฒนธรรม ดังต่อไปนี้
- วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์มีส่วนสร้างขึ้นมา โดยการเรียนรู้และสืบทอด กันมาจนเป็นความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ความรู้ ความเชื่อศิลปะ กฎหมาย ประเพณี และความสามารถอื่นๆ ที่มนุษย์ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและถ่ายทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย
- วัฒนธรรม คือสิ่งอันเป็นผลิตผลส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนรุ่นก่อนและสืบต่อกันมาเป็นประเพณี
- วัฒนธรรม คือมรดกแห่งสังคม เป็นมรดกที่สังคมได้รับและรักษาไว้ให้ เจริญงอกงาม(อนุมานราชธน พระยา , ม . ป . ป .)
พจนานุกรมสังคมวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2524 ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า
- วัฒนธรรม เป็นชื่อรวมสำหรับแบบอย่างของพฤติกรรมทั้งหลายที่ ได้มาทางสังคมและถ่ายทอดไปทางสังคมโดยสัญลักษณ์
- วัฒนธรรม เป็นชื่อรวมสำหรับสัมฤทธิ์ผลที่เด่นชัดของมนุษย์ ได้แก่ ภาษา การกระทำ เครื่องมือ อุตสาหกรรม ศิลปะวิทยาศาสตร์ กฎหมาย การปกครอง ศีลธรรม ศาสนา อุปกรณ์และสิ่งประดิษฐ์
พระเทพเวที ( พระธรรมปิฎก , 2532 หรือปัจจุบันคือ ป . อ . ปยุตโต ) กล่าวว่าวัฒนธรรมเป็นผลรวมของการสั่งสมสิ่งสร้างสรรค์และภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่ถ่ายทอด สืบต่อกันมาของสังคมนั้นๆ
นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา ผู้มีผลงานด้านวัฒนธรรมเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการสากล ได้ให้คำนิยามของคำว่าวัฒนธรรมไว้ดังนี้
เอ็ด เวิร์ด บี ไทเลอร์ (Edward B. Tylor) กล่าวว่า วัฒนธรรม คือ สรรพสิ่งทั้งหมดที่มนุษย์สร้างขึ้น อันได้แก่ ความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ จริยธรรม กฎหมาย ประเพณี รวมถึงความสามารถทั้งมวลตลอดจนลักษณะนิสัยต่างๆ ที่ได้รับสืบทอด หรือได้มาในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม (Vander Zanden, 1979)
บรูมและคณะ กล่าวอ้างถึงนิยามของโครเมอร์และคลักโคห์นว่า วัฒนธรรม คือวิถีชีวิตของสังคมหนึ่งๆ ประกอบด้วยความรู้ ความเชื่อ ประเพณี ทักษะและความชำนาญ (Broom, Selnick and Dorothy,1981)
แบบบี้ (Babbies, 1981) อธิบายว่า วัฒนธรรมคือ ข้อตกลงทั้งหมดที่สมาชิกของสังคมหนึ่งๆ มีส่วนร่วมรู้ ร่วมใช้ด้วยกัน
คำว่า ข้อตกลงทั้งหมด (The whole collection of agreement) หมายถึง ภาษา สัญลักษณ์ ความรู้ ความเชื่อ อุดมการณ์ ค่านิยม ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ระบบงาน ระเบียบ แบบแผน จารีต ประเพณี ฯลฯ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า วัฒนธรรม คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นคิดขึ้น กำหนดขึ้น บัญญัติขึ้น โดยไม่ได้กระทำตามสัญชาตญาณ เพื่อใช้ในสังคมของตน อีกทั้งวัฒนธรรมจะปรากฏในรูปของระบบความคิด (Thinking) การกระทำ (Doing) และการมีอยู่ (Having) ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและปรุงแต่งขึ้น
วัฒนธรรม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่โครงสร้าง แนวคิด รูปแบบวิถีชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีเท่านั้น ปัจจุบันขยายความไปถึงวัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมทางการค้า วัฒนธรรมทางการแพทย์ วัฒนธรรมในการทำงาน และวัฒนธรรมสาธารณะ ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขความอยุติธรรมทางสังคม นักการเมือง นักธุรกิจ ฯลฯ
ขอบเขตของวัฒนธรรม (Cultural Area)
วัฒนธรรมโลก คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยสิทธิพื้นฐานสำคัญ 6 ประการ คือ
1. สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเอง
2. สิทธิในการป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางเผ่าพันธุ์และสีผิว
3. สิทธิสตรี
4. สิทธิเยาวชน
5. ห้ามมีการเกณฑ์แรงงาน หรือ แรงงานบังคับ
6. สิทธิมนุษยชนในการบริการ ความยุติธรรม การคุ้มครอง ผู้ต้องหา จองจำหรือกักขัง
ทั้ง 6 ประการนี้ล้วนเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต คนทุกเผ่าพันธุ์ ที่แตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องมาตรฐานสังคมมนุษย์ มนุษย์ที่เป็นสมาชิกในประชาคมโลกจะต้องประพฤติ ปฏิบัติร่วมกัน
วัฒนธรรมชาติ
วัฒนธรรมชาติเป็นความหลากหลายของเผ่าชนที่แตกต่างทางสีผิว หน้าตา ความเชื่อ ประเพณี และวิถีชีวิต รวมทั้งการผสมผสานรูปแบบในการดำรงชีพ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ต้องประพฤติในบางอย่างร่วมกันโดยมีกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบที่พึงปฏิบัติต่อกัน และมีองค์กรของรัฐเป็นกำลังดูแลเฝ้าระวังให้สมาชิกในชนชาติต้องปฏิบัติร่วมกัน
นาย นิคม มูสิกะคามะ อธิบดีกรมศิลปากร ช่วง พ . ศ . 2541 และ ดร . วีระ บำรุงรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ช่วง พ . ศ . 2540 ท่านทั้งสองเห็นว่าเรื่องการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นรากเหง้า จิตวิญญาณของความเป็นชาติ การพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยผ่านกระบวนการศึกษา ส่งผลให้คนไทยปัจจุบันบูชาแนวคิดตะวันตก จนกลายเป็นทาสทางปัญญา เป็นทาสทางวัฒนธรรม ไม่สนใจในเรื่องท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรมและไม่เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาไทย การละเล่นแบบไทย
วัฒนธรรมท้องถิ่น ( หรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน )
วัฒนธรรม พื้นบ้าน คือ รูปแบบการดำเนินชีวิตเผ่าชนต่างๆ ที่อาศัยรวมกันในประเทศ แต่มีลักษณะหน้าตา สีผิว เผ่าพันธุ์ การดำรงชีพ ศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่อาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศใดประเทศหนึ่งมีความหลากหลาย แต่มีรูปแบบการดำรงชีพ และเอกลักษณ์ใกล้เคียงกัน คือ
1. วัฒนธรรมการดำรงชีวิต เช่น การทำมาหากิน อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย
2. วัฒนธรรมด้านภาษา ที่ทำให้สามารถสื่อสารกันเข้าใจ สร้างความสามัคคีและพัฒนาความรู้
3. วัฒนธรรมด้านศาสนา ที่สามารถสร้างสันติสุข ความเข้าใจให้แก่สังคมมนุษย์
4. ศิลปะและการละเล่น คือ ความงดงามทางสุนทรียภาพ ความสะอาด ร่มรื่น ที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ
5. สังคม เศรษฐกิจและการเมือง คือ รูปแบบการอบรมของครอบครัว ชุมชน หรือการมีความสุขในสภาพแวดล้อมและทรัพยากรอย่างเอื้ออาทร ตลอดจนการแก้ไขความ ไม่ยุติธรรมในสังคม
ดังนั้นวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบวิถีชีวิตของคน จึงมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ศิลปะและซากโบราณสถานในอดีต
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
ขอบเขตและรูปแบบของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานดังนี้
1. ความพึงพอใจของความคิดเดิม (Manifestation of Thought) ความคิด ความรู้สึกและการถ่ายทอดสื่อสาร ปรัชญา ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ และวิทยาการต่างๆ
2. การแสดงออกทางสร้างสรรค์ (Expressions) การสร้างสรรค์ประกอบด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี นาฏศิลป์ ดนตรี เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิต เทคโนโลยีและการจัดการ เป็นต้น
3. การสืบทอดทางวัฒนธรรม และวรรณคดี (Language and Literature) ซึ่งประกอบด้วยอักษรที่นำมาผสมแทนเสียง การพูด การอ่าน การออกเสียงที่ใช้ในการสืบทอดต่อกันมา ทั้ง 3 ประการนี้เป็นรูปแบบพื้นฐานของวัฒนธรรมที่ใช้กันทั่วไป
คุณลักษณะของวัฒนธรรม มี 2 ประการได้แก่
1. คุณลักษณะของวัฒนธรรมเชิงวิถีชีวิต
1.1 วัฒนธรรมเกิดจากการเรียนรู้
1.2 วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง
1.3 วัฒนธรรมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้
1.4 วัฒนธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
1.5 วัฒนธรรมแตกต่างกันตามสภาพสังคม
2. คุณลักษณะเชิงหน้าที่
2.1 วัฒนธรรมกำหนดบรรทัดฐาน
2.2 วัฒนธรรมกำหนดบทบาท
2.3 วัฒนธรรมช่วยควบคุมพฤติกรรมของคน
องค์ประกอบแห่งวัฒนธรรมไทย 5 ส่วน
วัฒนธรรม เป็น วิถีชีวิตของคนซึ่งศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ได้แบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 5 ส่วน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 เผ่าพันธุ์การดำรงชีพ (Life) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตาเผ่าพันธุ์ของคน การดำรงชีพ เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ตลอดจนที่อยู่อาศัย
ส่วนที่ 2 สังคม (Social) เกี่ยวข้องกับครอบครัว การทำมาหากิน การอยู่ร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาการ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการเมืองการปกครอง บางประเทศร่วมกันเรียกว่า สังคมเศรษฐกิจและการเมือง(Social Economical aspect)
ส่วนที่ 3 ศาสนาและจริยธรรม (Religion) เป็นเรื่องของความเชื่อพื้นฐาน กริยามารยาท การประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนจารีตประเพณี ฯลฯ
ส่วนที่ 4 สุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) เป็นเรื่องของรสนิยมความงาม ตลอดจนถึงการละเล่นพื้นเมือง ภาพลักษณ์ที่ประชาชนแสดงออกในด้านดนตรี การละคร ฟ้อนรำและภาพลักษณ์ของที่อยู่อาศัย
ส่วนที่ 5 ภาษาและวรรณกรรม (Language) เป็นเรื่องของการสืบสารสืบทอดความรู้ เช่น การพูด การขีดเขียน และการอ่าน เพื่อความเข้าใจของเผ่าพันธุ์
องค์ประกอบของวัฒนธรรม มี 4 ประการ ดังนี้
1. มีแนวคิด (concept) หรือปรัชญา (philosophy) อันมีที่มาจากความเชื่อเรื่องปรำปรา สภาวะแวดล้อมที่เป็นเหตุเป็นผล หรือมีหลักการ หลักวิชาการเป็นฐานรองรับ แต่ส่วนมากจะมีที่มาจากศาสนาและธรรมชาติ หรือเรียกว่าองค์มติ
2. มีสัญลักษณ์ (symbols) คือ สิ่งที่สื่อความหมายให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ เช่น ภาษา ท่าทาง การแต่งกาย เครื่องหมาย รูปภาพ ทำนอง จังหวะ กิริยา ระบบตัวเลข และรวมถึงวัตถุสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือเรียกว่าองค์วัตถุ
3. มีการจัดระเบียบ (organization) วัฒนธรรมหน่วยหนึ่งเกิดจากการรวมตัวของลักษณะทางวัฒนธรรมอย่างเป็นขั้นตอน การรวมตัวกันอาศัยระเบียบแบบแผนกำกับ ซึ่งรวมถึงการจัดระเบียบโครงสร้าง การควบคุมให้อยู่ในภาวะปกติ และกำหนดแบบแผนของพฤติกรรมเป็นมาตรฐาน ทุกคนในสังคมรับรู้ร่วมกันบางครั้งเรียกว่า องค์การ
4. มีการใช้ประโยชน์ (Usage) มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและผู้ปฏิบัติ แสดงออกในรูปของพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบวช พิธีไหว้ครู รวมถึงการทำตามประเพณีในสังคม บางครั้งเรียก องค์พิธี
ประเภทของวัฒนธรรม
การแบ่งประเภทของวัฒนธรรมสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพื้นฐานแนวคิดอาจจะแบ่งประเภทในลักษณะทั่วไปเพื่อให้ขอบเขตกว้าง ๆ หรืออาจแบ่งประเภทเพื่อให้ได้รายละเอียดที่ชัดเจน การแบ่งประเภทของวัฒนธรรมจึงมีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือ
งามพิศ สัตย์สงวน อธิบายว่า วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
(1) วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ (Material Culture) หมายถึง วัฒนธรรมด้านรูปธรรม เป็นวัฒนธรรมที่สามารถสัมผัสได้มีรูปร่าง หรือเป็นสิ่งของต่าง ๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในการดำรงชีวิต เช่น บ้านเรือน อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ ยารักษาโรค เป็นต้น
(2) วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ (Non – material Culture) หมายถึง วัฒนธรรมด้านนามธรรมเป็นวัฒนธรรมที่ไม่สามารถสัมผัสได้ ได้แก่ ภาษา ถ้อยคำที่ใช้พูด ความคิด ค่านิยม ประเพณี ความเชื่อถือที่มนุษย์ยึดถือเกี่ยวกับศาสนา ลัทธิทางการเมือง วัฒนธรรมประเภทนี้ บางครั้งรวมเอากติกาการแข่งขันกีฬา ความชำนาญของผู้เล่น หรือผู้แข่งขัน แนวความคิดเกี่ยวกับยุทธวิธีของผู้แข่งขันรวมทั้งพฤติกรรมที่เป็นที่มาของผู้แข่งขันและผู้ดูแลการแข่งขันไว้ด้วย และมารยาททางสังคม
การแบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 2 ประเภทนั้น นักสังคมวิทยาบางท่านเห็นว่า แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเภทที่สองหรือวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ทางด้านวัตถุนั้นยังคลุมเครือเห็นว่าน่าจะแบ่งวัฒนธรรมออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ( ณรงค์ เส็งประชา . 2528 : 7)
(1) วัฒนธรรมทางด้านวัตถุ ( Material - having) ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ซึ่งมนุษย์ได้คิดสร้างขึ้น เช่น รถยนต์ อาคารบ้านเรือน โต๊ะ และเก้าอี้ เป็นต้น
( 2) วัฒนธรรมทางด้านความคิด (Ideas - thinking) ตัวอย่างของวัฒนธรรมทางด้านนี้ ได้แก่ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา วรรณคดี และสุภาษิต เป็นต้น
( 3) วัฒนธรรมทางบรรทัดฐาน (Norms - doing) ได้แก่ ระเบียบแบบแผน หรือประเพณีที่บุคคลในสังคมยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งประกอบด้วย
- วิถีประชา (Folkways) ได้แก่ การบวชของลูกชายเมื่ออายุครบ 20 ปี เพื่อทดแทนบุญคุณบิดา มารดา ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับการติฉินนินทา
- จารีต (Mores) ได้แก่ ระเบียบแบบแผนที่บุคคลในสังคมจะต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนเป็นการกระทำผิดทาง ศีลธรรม สังคมอาจรังเกียจ และอาจถูกตัดจากสังคม ตัวอย่างของจารีต เช่น การเลี้ยงดูพ่อแม่ตอบแทนเมื่อท่านแก่เฒ่า และเราอยู่ในภาวะที่จะรับผิดชอบได้
- กฎหมาย (Laws) ได้แก่ ระเบียบที่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามตัวบทกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ
แผนภูมิวัฒนธรรม
ความสำคัญของวัฒนธรรม
วัฒนธรรมเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนามนุษย์ และการพัฒนาชาติบ้านเมืองเพราะวัฒนธรรมเป็นหลักสำคัญในการสื่อความหมายและปลูกฝังคุณธรรม วัฒนธรรมมุ่งที่จะพัฒนาจิตใจคนซึ่งมีความละเอียดอ่อนเป็นแก่นแท้ของการสร้างทรัพยากรมนุษย์อันทรงคุณค่า ทั้งนี้เพื่อให้ถึงซึ่งการสร้างความสงบสุขและสันติให้แก่สังคม วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์สังคม ดังนี้
1. วัฒนธรรมคุ้มครองคนและคุ้มครองสังคม
สังคมมนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขสงบโดยอาศัยวัฒนธรรมทางด้านจิตใจเป็นเครื่องหล่อหลอมและยึดเหนี่ยว เพราะอาศัยคติธรรมช่วยคุ้มครองทั้งทางกาย วาจา และใจ วัฒนธรรมสามารถสร้างคุณธรรม จริยธรรม และสร้างความสัมพันธ์อันดีงามให้แก่บุคคลในกลุ่มสังคมก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางหมู่คณะ บุตรกับบิดามารดา สามีกับภรรยา ศิษย์กับอาจารย์ รวมทั้งมิตรสหายต่างๆ ก็ปฏิบัติต่อกันด้วยความจริงใจ ความมีเมตตากรุณา ซึ่งเป็นไปด้วยอัธยาศัยที่มีไมตรีอันดีต่อกันทั้งทางกาย วาจา และใจ
2. วัฒนธรรมกำหนดบรรทัดฐาน หรือแนวทางในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ๆ มีวัฒนธรรมจึงมีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิต เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
3. วัฒนธรรมสร้างเอกลักษณ์ให้แก่สังคม
เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะเฉพาะ ลักษณะเด่นของแต่ละสังคม เอกลักษณ์มีที่มาจากภาษา ศาสนา ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป ฯลฯ ซึ่งมีรากฐานมาจากความคิด ความเชื่อ สิ่งประดิษฐ์ ที่สั่งสมมาช้านาน จึงก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความมีเกียรติ ศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจของคนในชาติ
4. วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมค่านิยม หล่อหลอมบุคลิกภาพของสมาชิกของสังคม บุคลิกภาพของบุคคลจะถูกหล่อหลอม ขัดเกลา หรือมีรูปแบบตามการกำหนดของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นมรรยาท ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสุภาพ เรียบร้อย กตัญญูกตเวที ความกล้าหาญ เสียสละ ฯลฯ
5. วัฒนธรรมทำให้เกิดความมั่งคงของชาติ
ชาติจะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยวัฒนะธรรม ชาติใดก็ตามถ้าไม่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองแล้ว จะไม่มีความเป็นชาติเป็นประเทศ ดังนั้นประชาชนคนในชาตินั้นจะต้องรักษาอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมของตนให้คงอยู่ตลอดไปในทำนองเดียวกันประชาชนคนในชาตินั้นจะต้องรักษาเอกราชและความมั่นคงของประเทศด้วยเพื่อวัฒนธรรมจะยังคงอยู่ในชาตินั้น
2.2 วัฒนธรรมไทย
ที่มาของวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยมีที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
(1) สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำลำคลองในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน ทำให้เกิด “ประเพณี
ลอยกระทง” “ประเพณีแข่งเรือ”
(2) ระบบการเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม (Agrarian Society) กล่าวคือ ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชีวิตผูกพันกับระบบการเกษตรกรรม เป็นที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลงแขก และการละเล่นเต้นกำรำเคียว เป็นต้น
(3) ค่านิยม (Values) กล่าวได้ว่า “ ค่านิยม ” มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดและ “ ค่านิยม ” บางอย่างได้กลายมาเป็น “ แกน ” ของวัฒนธรรมไทย กล่าวคือ วิถีชีวิตของคนไทยโดยส่วนรวม มีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ เช่น ค่านิยมเคารพอาวุโส,ความอ่อนน้อมถ่อมตน, กตัญญูกตเวที ฯลฯ
(4) การเผยแพร่ทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion) คือ การที่ประเทศต่าง ๆ ส่งหน่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเข้ามาโดยตรง หรือการที่ชาวไทยได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศอาจโดยไปศึกษาเล่าเรียนหรือไปทำงานเมื่อกลับมาแล้ว ก็นำวัฒนธรรมนั้นมาเผยแพร่ วัฒนธรรมของสังคมอื่น ซึ่งได้เผยแพร่เข้ามาในสังคมไทยก็คือ
- ศาสนาพราหมณ์ ได้เผยแผ่เข้ามาในสังคมไทย อันเป็นที่มาของประเพณีต่าง ๆ ซึ่งมีการปฏิบัติกันอยู่ในสังคมไทย เช่นประเพณีสงกรานต์ ประเพณีอาบน้ำในพิธีการต่าง ๆ ได้แก่ อาบน้ำในพิธีปลงผมไฟ โกนจุก การบวงสรวงสังเวยต่าง ๆ
- พุทธศาสนา ได้เผยแพร่เข้ามาในสังคมไทย พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ซึ่งก่อให้เกิดประเพณีมากมาย หรืออาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย ประเพณีที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การทอดกฐิน การบวชนาค การแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นต้น
- วัฒนธรรมจากสังคมอื่น ๆ ที่มาของวัฒนธรรมไทยอีกแหล่งหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมจากสังคมอื่น ๆ ซึ่งได้หลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสะดวกรวดเร็วของการติดต่อสื่อสารคมนาคมและสื่อมวลชน ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมตะวันตกที่ได้เผยแพร่เข้ามาได้แก่ มรรยาทในการสังคม เช่น การสัมผัสมือ (Shake hand) การกีฬา เช่น รักบี้ ฟุตบอล และการแต่งกายแบบสากล อันได้แก่ ผูกเนกไท สวมเสื้อนอก เป็นต้น ( อานนท์ อาภาภิรม .2519 : 105 – 107)
ประเภทของวัฒนธรรมไทย
ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมไทยแห่งชาติ พ . ศ . 2485 แบ่งวัฒนธรรมได้ 4 ประเภท ดังนี้
(1) คติธรรม (Moral Culture) เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับหลักของการดำเนินชีวิตในสังคม และส่วนใหญ่เป็นเรื่องของจิตใจ โดยเน้นทางด้านคุณธรรม ศีลธรรม เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นของชีวิตมนุษย์เราทุกคน ถ้าหากขาดวัฒนธรรมทางด้านคติธรรมแล้ว จะทำให้มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์อยู่ในสังคมได้ด้วยความลำบากเข้ากับคนอื่นได้ยาก
(2) เนติธรรม (Legal Culture) เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสังคม ถ้าหากประชาชนในสังคมทุกคนต่างยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี มีคุณธรรมและมีศีลธรรม กฎหมายนั้นก็คงไม่จำเป็นต่อการนำมาใช้ปกครองสังคม
(3) วัตถุธรรม (Material Culture) เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต เช่น เกี่ยวกับการกินดีอยู่ดี มีเครื่องนุ่งห่ม บ้านเรือน ยารักษาโรค โบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปวัตถุ สิ่งของที่เป็นสาธารณสมบัติ เพื่อการประกอบอาชีพเป็นการเพิ่มพูนรายได้ยกฐานะความเป็นอยู่ของตนเองให้สูงขึ้น
(4) สหธรรม (Social Culture) เป็นวัฒนธรรมทางสังคม ซึ่งรวมถึงคุณธรรมต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์เราอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน รวมทั้งระเบียบมารยาทที่พึงปฎิบัติต่อกันในสังคมทุกชนิดทุกรูปแบบอย่างเหมาะสมถูกต้อง เช่น มารยาทในการรับแขก มารยาทในการรับประทานอาหาร การไปงานมงคลทุกชนิด การทำตนให้เป็นผู้รู้จักกาลเทศะ
เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย
เอกลักษณ์หรือลักษณะประจำชาติ ในทางวิชาการมีความหมาย 2 ประการ คือ ประการแรก หมายถึง ลักษณะที่เป็นอุดมคติซึ่งสังคมต้องการให้คนในสังคมนั้น ยึดมั่นเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เป็นลักษณะที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามและให้การเทิดทูนยกย่อง อีกประการหนึ่ง หมายถึง ลักษณะนิสัยที่คนทั่วไปในสังคมนั้นแสดงออกในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ในการทำงานการพักผ่อนหย่อนใจ การติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น และในการดำเนินชีวิตทั่วไปในสังคมเป็นลักษณะนิสัยที่พบในคนส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนมากมักจะแสดงออกโดยไม่รู้ตัวเพราะเป็นเรื่องของความเคยชินที่ปฏิบัติกันมาอย่างนั้น
เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่เด่น ๆ มีดังนี้
(1) ความรักอิสรภาพหรือความเป็นไท คนไทยมีลักษณะนิสัยไม่ต้องการอยู่ในอำนาจบังคับของผู้อื่น ไม่ชอบการควบคุมเข้มงวด ไม่ชอบการกดขี่หรือให้ผู้อื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวสั่งการในรายละเอียดในการทำงานและการดำเนินชีวิตส่วนตัว คนไทยเป็นคนที่หยิ่งและรักศักดิ์ศรีของตนเอง การบังคับน้ำใจกันหรือฝ่าฝืนความรู้สึกของกันและกันถือว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ
(2) การย้ำการเป็นตัวของตัวเองหรือปัจเจกบุคคลนิยม คือ การให้คุณค่าในความเป็นตัวของตัวเอง ความนิยมนี้ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของพุทธศาสนาซึ่งย้ำความสำคัญของตัวบุคคลเป็นพิเศษ ถือว่าบุคคลจะเป็นอย่างไรย่อมแล้วแต่กรรมของบุคคลนั้นในอดีต การย้ำสอนให้พึ่งตนเอง ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ส่วนการที่จะดีหรือชั่วนั้นอยู่ที่การกระทำของตนเองมิได้อยู่ที่ชาติกำเนิด
(3) ความรู้สึกมักน้อย สันโดษ และพอใจในสิ่งที่มีอยู่ คนไทยไม่มีความดิ้นรนทะเยอทะยานที่จะเอาอย่างคนอื่น ถือเสียว่าความสำเร็จของแต่ละคนเป็นเรื่องของบุญวาสนา ทุกคนอาจมีความสุขได้เท่าเทียมกันทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องภายในใจ
(4) การทำบุญและการประกอบการกุศล คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด จึงมักนิยมทำบุญและประกอบการกุศลโดยทั่วไป โดยถือว่าเป็นความสุขทางใจและเป็นการสะสมกุศลกรรมในปัจจุบันเพื่อหวังจะได้รับผลประโยชน์ในอนาคต
(5) การย้ำการหาความสุขจากชีวิต คนไทยมองชีวิตในแง่สวยงาม ความกลมกลืนและพยายามหาความสุขจากโลก ซึ่งตรงกันข้ามกับชาวตะวันตกที่มักจะมองชีวิตในแง่ของความขัดแย้งระหว่างอำนาจฝ่ายต่ำในร่างกายมนุษย์และอำนาจฝ่ายสูง ซึ่งได้แก่ ศีลธรรมและความรับผิดชอบในใจคนไทยจึงไม่มีความขัดแย้งในใจเกี่ยวกับการปล่อยตนหาความสำราญ เพราะถือว่าอยู่ในธรรมชาติมนุษย์
(6) การย้ำการเคารพเชื่อฟังอำนาจ คนไทยนิยมการแสดงความนอบน้อมและเคารพ บุคคลผู้มีอำนาจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นไปตามแบบพิธีซึ่งแสดงฐานะสูงต่ำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(7) การย้ำความสุภาพอ่อนโยนและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนไทยเป็นมิตรกับทุกคนและมีชื่อเสียงในการต้อนรับ คนไทยนิยมความจริงและช่วยเหลือกันในการมีความสัมพันธ์ระหว่างกันและไม่คิดเอาเปรียบผู้อื่น มีความเมตตาสงสารไม่ซ้ำเติมผู้แพ้ ถือเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งของคนไทย
(8) ความโอ่อ่า ลักษณะนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อมั่นและหยิ่งในเกียรติของตนเอง คนไทยนั้นถึงแม้ภายนอกจะดูฐานะต่ำ แต่ในใจจริงเต็มใจยอมรับว่าตัวเองต่ำกว่าผู้อื่น ถือว่าตัวเองมีความสามารถเท่าเทียมกับผู้อื่นถ้าตนมีโอกาสเช่นเดียวกัน คนไทยไม่ยอมให้มีการดูถูกกันง่าย ๆ และถือว่าตนมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้อื่นในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
ลักษณะที่กล่าวมานี้มักจะพบเห็นในพฤติกรรมและบุคลิกภาพของคนไทยลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมไทยและประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กัน ทำให้คนไทยมีลักษณะบางอย่างคล้ายกัน
ความสำคัญของวัฒนธรรมไทย ความสำคัญของวัฒนธรรมไทยอาจสรุปได้ดังนี้
(1) วัฒนธรรมเป็นเครื่องสร้างระเบียบแก่สังคมมนุษย์ วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมไทย ให้มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนรวมถึงผลของการแสดงพฤติกรรมตลอดจนถึงการสร้างแบบแผนของความคิด ความเชื่อและค่านิยมของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน
(2) วัฒนธรรมทำให้เกิดความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกันย่อมจะมีความรู้สึกผูกพันเดียวกัน เกิดความเป็นปึกแผ่น จงรักภักดีและอุทิศตนให้กับสังคมทำให้สังคมอยู่รอด
(3) วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน เช่น รูปแบบของครอบครัวจะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวแต่ละสังคมต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมไทยกำหนดเป็นแบบสามีภรรยาเดียว ในอีกสังคมหนึ่งกำหนดว่าชายอาจมีภรรยาได้หลายคน หรือหญิงอาจมีสามีได้หลายคน ความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรม
(4) วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา และสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ที่ตนได้รับการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและถ่ายทอดจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกรุ่นต่อไปได้โดยวัฒนธรรมของสังคม
(5) วัฒนธรรมช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะสม เช่น ความมีระเบียบวินัย ขยัน ประหยัด อดทน การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว
(6) วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ คำว่า เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะพิเศษหรือลักษณะเด่นของบุคคลหรือสังคม ที่แสดงว่าสังคมหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมการพบปะกันในสังคมไทย จะมีการยกมือไหว้กันแต่ในสังคมญี่ปุ่นใช้การคำนับกัน เป็นต้น
2.3 ประเพณีไทย
ความหมายของประเพณีไทย
ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน กล่าวว่า ประเพณี คือ ความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกันและสืบทอดมานาน ถ้าใครในหมู่ประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณีหรือผิดจารีตประเพณี
อุทัย หิรัญโต กล่าวว่า ประเพณี คือ แบบแผนของความประพฤติปฏิบัติ และการกระทำที่บุคคลในกลุ่มสังคมเดียวกันยึดถือปฏิบัติในการดำเนินการต่าง ๆ (อุทัย หิรัญโต. 2522 : 71)
แปลก สนธิรักษ์ กล่าวว่า ประเพณี คือ ความประพฤติสืบทอดต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของส่วนรวม ซึ่งเรียกว่า เอกนิยม หรือพหุนิยม เช่น การแต่งงาน การเกิด การตาย การทำบุญ การละเล่น การแต่งกาย เป็นต้น
รัชนีกร เศรษฐโฐ กล่าวว่า ประเพณี คือ ความประพฤติสืบทอดต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในหมู่คณะ เช่น การแต่งงาน การเกิด การตาย เป็นต้น (รัชนี เศรษฐโฐ. 2523 : 174)
สุพัตรา สุภาพ กล่าวว่า ประเพณี คือ ระเบียบแบบแผนการปฏิบัติที่เห็นว่าดี ว่าถูกต้องหรือเป็นที่ยอมรับของคนส่วยใหญ่ในสังคม และมีการปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมา เช่น เกิด แต่งงาน บวช ปลูกบ้าน ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น สุพัตรา สุภาพ. 2525 : 138)
จะเห็นได้ว่า ประเพณี มีความหมายกว้างขาวงมาก เพราะหมายถึงความเชื่อ ความคิด การกระทำ ค่านิยม ทัศนคติ ศีลธรรม ระเบียบแบบแผน และวิธีการกระทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนถึงการประกอบพิธีในโอกาสต่าง ๆ ที่กระทำกันมาในอดีต ลักษณะสำคัญของประเพณี คือเป็นสิ่งที่เชื่อถือปฏิบัติกันมา จนกลายเป็นแบบอย่างความคิดหรือการกระทำที่ได้สืบต่อกันมาและมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน
ประเพณี เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเพื่อสวัสดิภาพของมนุษย์เอง ชีวิตสังคมจะไม่สงบเรียบร้อยถ้าไม่มีประเพณีหนุนหลัง ประเพณี ของสังคมมิใช่เป็นสิ่งแน่นอนคงที่ตายตัวหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตรงกันข้ามประเพณีเกิดขึ้นได้และสลายตัวได้เช่นเดียวกัน เมื่อสภาพแวดล้อมของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติกว้างขวางขึ้น การประดิษฐ์คิดค้นทาวิทยาศาสตร์กว้างขวางขึ้น มีการติดต่อกับสังคมอื่นซึ่งมีแบบอย่างหรือวิธีการแตกต่างออกไป ความต้องการและโอกาสที่จะทำให้ชีวิตสุขสบายอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ จำต้องแสวงหาวิธีใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป วิธีใหม่นี้เมื่อเป็นที่ยอมรับก็จะกลายเป็นประเพณีใหม่ วิธีการเดิมหรือประเพณีเดิมก็สลายตัวไป การปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคม ทำให้ประเพณี
ที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น