วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี

      
  พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีที่เป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุใต้ท้องทะเลจำนวนมากนับหมื่นๆชิ้นแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย นับเป็นหนึ่งในแหล่งจัดแสดงของดีในระดับทวีปที่ถือว่าไม่ธรรมดาเอาเสีย   พิพิธภัณฑ์ฯพาณิชย์นาวี เกิดมาจากการที่กรมศิลปากร ได้ตั้งฐานปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำขึ้นที่ท่าแฉลบ และตั้งศูนย์การอนุรักษ์โบราณวัตถุใต้ทะเลขึ้นที่ ค่ายเนินวง ต.บางกจะ อ.เมือง จ.จันทบุรี ซึ่งได้มีการสำรวจทางโบราณคดีใต้น้ำพบโบราณวัตถุจากซากเรือจมในอดีตมากมาย กอปรกับการที่กองทัพเรือสามารถตรวจจับและยึดโบราณวัตถุจากนักล่าสมบัติใต้ทะเลชาวต่างชาติที่แอบมาลักลอบค้นหาในท้องทะเลไทยได้อยู่เรื่อยๆ โดยจับได้ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งหลังการตรวจยึดก็จะส่งมาให้กรมศิลป์ดูแลรักษา  ความที่มีโบราณวัตถุใต้ทะเลอยู่เป็นปริมาณมากนับหมื่นๆชิ้น กรมศิลป์จึงดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีขึ้นในปี พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานทางโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมด้วยเรื่องราวของการพาณิชย์นาวีไทย โดยมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯพาณิชย์นาวีขึ้นที่ ค่ายเนินวง ค่ายโบราณที่สร้างขึ้นรับศึกญวน(เวียดนาม)ในสมัยรัชกาลที่ 3   พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีลักษณะเป็นอาคารแฝด 2 ชั้น ภายในมีการแบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 6 ห้อง ซึ่งห้องที่เด่นที่สุดผมยกให้กับห้องแรกสุดคือ ห้องจัดแสดงสินค้าและวิถีชีวิตชาวเรือห้องนี้เมื่อเดินเข้ามาจะพบกับเรือมีตาหน้ายักษ์ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่กลางห้อง

                                                                                                                                                                    
เรือมีตาหน้ายักษ์ลำนี้ เป็นเรือสำเภาโบราณจำลองขนาดเท่าของจริง(ลำเล็กสุด) เหตุที่ผมเรียกว่าเรือมีตาเพราะ ข้างเรือด้านนอก ฝั่งซ้าย-ขวา เยื้องไปทางฝั่งหัวเรือ มีการวาดตาเรือกลมๆ มีตาดำ-ตาขาว เหมือนตาคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์อธิบายให้ผมฟังว่า   ตาเรือแบบนี้เป็นตาเรือสินค้า ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าตาดำมองออกไปยังเบื้องหน้า ส่วนถ้าเป็นเรือที่มีตาดำมองเหลือบต่ำลงไปในทะเลนั่นคือเรือประมง แต่ถ้าเจอเรือที่มีรูปตาตัดเหลือเพียงครึ่งเดียวลอยมาหา ก็ต้องหนีทันทีเพราะนั้นคือเรือโจรสลัดส่วนที่ผมบอกเป็นเรือหน้ายักษ์ เพราะที่ด้านหน้าเรือวาดลวดลายเป็นรูปราหูดูขรึมขลัง ซึ่งราหูถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวเรือเคารพนับถือ ขณะที่ด้านหลังของเรือลำนี้วาดเป็นรูปนกฟีนิกซ์เกาะอยู่บนภูเขากลางทะเล หมายถึงความเป็นอมตะ ฆ่าไม่ตาย ชาวเรือเปรียบดังเรือไม่ล่ม ไม่จม ใต้ตัวนกฟีนิกซ์เขียนชื่อบอกให้รู้ว่าเรือลำนี้ชื่อ
 บรรพนาวินซึ่งหมายถึงบรรพบุรุษแห่งการเดินเรือ  
                                                                                                                    
บนชั้น 2 หรือชั้นบนของเรือ ที่ผมเดินผ่านบันไดแคบๆขึ้นไป บนนั้นมีองค์ประกอบสำคัญๆของเรือสำเภาโบราณจัดแสดงไว้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ใบเรือ พังงาเรือ ลูกตะเภาสำหรับกันเรือกระแทกที่ทำด้วยหวาย ร่วมด้วยการจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเรือสมัยก่อน มีจับกังหรือกุลีหรือจุมโผ่ แบกหามกระสอบสิ่งของต่างๆ มีคนดึงเชือกใบเรือ หรือ อาปั๋นกำลังทำท่าสาวดึงใบเรืออย่างขะมักเขม้น ส่วนไม่ไกลกันมีเฒ่าเต้งมาทำหน้าที่คอยดูแลสมอเรือ โดยมีกัปตันเรือหรือจุ่มจู๊หรือไต้ก๋งยืนคุมคนงานอยู่บนชั้นดาดฟ้าอีกที   นอกจากไฮไลท์เรือบรรพนาวินแล้ว ในห้องนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้โบราณที่นำมาจากแหล่งเรือจม ไม่ว่ะเป็น คันฉ่อง(กระจก) เครื่องถ้วยสังคโลก เหรียญเงินสมัยราชวงศ์ถัง จี้ทองคำฝังพลอยแดง กำไลข้อมือทองคำ แหนบ กุญแจจีน เบ็ด ไข่เป็ด ก้างปลา และ ฯลฯ ซึ่งข้าวของโบราณเหล่านี้สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย หรือเมื่อราวๆ 300-400 ปีที่แล้วจากห้องแรกห้องไฮไลท์ ยังมีอีก 5 ห้องที่เหลือให้เดินเที่ยวชมกันได้แก่                                                                              
 ห้องแนะนำปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำ
ห้องนี้ให้คำอธิบาย คำจำกัดความเกี่ยวกับงานทางโบราณดคีใต้น้ำ เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมา โบราณคดีใต้น้ำคืออะไร แตกต่างจากโบราณคดีบนบกอย่างไร พร้อมกับมีการจำลองวิถีการทำงานของนักโบราณคดีใต้น้ำของทีมงานจากเรือบางกระชัย 4 มาจัดแสดง ที่ผมเห็นแล้วต้องยกนิ้วให้กับความสามารถ ความพยายาม และความมุ่งมั่นของคนเหล่านี้   
                                                                                                                                                        
ห้องคลังเก็บโบราณวัตถุ
 เป็นห้องที่แสดงให้เห็นถึงการเก็บรักษาโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์นับหมื่นๆชิ้น ที่ปกติพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วๆไปจะไม่เปิดเผยความลับ ของดี แบบนี้ให้คนทั่วไปชม
                                                                            
ห้องแสดงเรือและชีวิตชาวเรือ
 ห้องนี้จัดแสดงเรือประเภทต่างๆในบ้านเรา ทั้งเรือขุดและเรือต่อ เท่าที่จะหาได้ ทำเป็นโมเดลเรือจำลอง ย่อสัดส่วนขนาดตามของจริงลงมา มีทั้ง เรือพระราชพิธี เรือรบสมัยใหม่ เรือสำเภา และเรือพื้นบ้านที่บางลำกลายเป็นตำนาน บางลำหาดูได้ยากเต็มทีในยุคนี้ พ.ศ.นี้ อาทิ เรือผีหลอก เรือพายม้า เรือหมู เรือแม่ปะ เรือหางแมงป่อง เรือสำเภา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีซากเรือโบราณอายุประมาณ 200 ปี ขุดขึ้นมามาจากไม้ตะเคียนต้นเดียวแต่ว่ายังขุดไม่เสร็จ ซึ่งสันนิษฐานว่าที่ไม่อาจขุดเรือลำนี้ให้เสร็จลงได้ อาจเกิดจากการที่ชุมชนที่ขุดเรือโยกย้ายถิ่นฐานไปเสียก่อน เกิดจากการขึ้นรูปเรือผิดพลาดจนไม่สามารถขุดลุล่วงให้เป็นเรือได้ หรืออาจเกิดจากความแรงความเฮี้ยนของไม้ตะเคียน ที่ผมฟังแล้วชวนสยึ๋ยกึ๋ยไม่น้อย บรื๋อ!?!                               
 ห้องของดีเมืองจันท์
จัดแสดงของดีเมืองจันท์ที่เราๆคุ้นชื่อ อาทิ พลอย ผลไม้ เสื่อ ฯลฯ และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองนี้ ร่วมด้วยเรื่องราวทางชาติพันธุ์ของชาวชองชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของเมืองจันท์                                              
ห้องบุคคลสำคัญ
 เป็นห้องที่รำลึก เชิดชูพระมหาวีรกรรมขององค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เน้นไปที่ การทำสงครามเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เริ่มตั้งแต่เส้นทางเดินทัพเมื่อคราวมารวบรวมพลที่จันทบุรี ซึ่งผมเห็นสภาพบ้านเมืองไทยยามนี้แล้วก็อดนึกถึงเมื่อคราวเสียงกรุงไม่ได้  
ที่มา

www.chanthaboon.net

                                                                                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น